ขนแม่ม่าย-หญ้า

Centotheca lappacea (L.) Desv.

ชื่ออื่น ๆ
หญ้าอีเหนียว (กลาง); เหนียวหมา, เหล็กไผ่ (ใต้)
ไม้ล้มลุกหลายปี ใบเรียงสลับ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกย่อยมีดอกย่อย ๒-๓ ดอก กาบล่างของดอกย่อยบนมีขนแข็งยาว โคนเป็นปุ่ม ผลแบบผลแห้งเมล็ดโต รูปรี ยาวประมาณ ๑ มม.

หญ้าขนแม่ม่ายเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ขึ้นเป็นกอ ต้นตรง สูงได้ถึง ๑ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกหรือรูปแถบ กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบสาก ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนโคนเป็นปุ่ม มีเส้นขวางระหว่างเส้นใบเป็นตาราง กาบใบยาว ๔-๖ ซม. ลิ้นใบเป็นเยื่อยาวประมาณ ๒ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๓๐ ซม. ช่อดอกย่อยรูปรี กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๖ มม. ออกเดี่ยว มีก้าน ก้านยาวประมาณ ๑ มม. กาบ ๒ อัน รูปรี ปลายแหลม ปลายสุดเป็นแหลมเข็ม กาบพับครึ่งตามยาวเป็นสัน มีเส้นตามยาว ๓-๕ เส้น กาบล่างยาวประมาณ ๓ มม. กาบบนยาวประมาณ ๔ มม. มีดอกย่อย ๒-๓ ดอก ดอกสมบูรณ์เพศดอกล่าง กาบล่าง รูปรี ยาวประมาณ ๓.๕ มม. เนื้อแข็ง มีเส้นตามยาว ๕ เส้น ผิวเกลี้ยง กาบบนรูปรี ยาวประมาณ ๒.๕ มม. เนื้อบาง กลีบเกล็ด ๒ อัน ยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้มี ๓ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ เส้น ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่มเป็นพู่ ดอกบนหรือดอกที่ ๒ คล้ายดอกล่าง แต่อาจเป็นดอกเพศผู้ กาบล่างครึ่งบนมีขนแข็งยาวโคนเป็นปุ่ม ดอกที่ ๓ คล้ายดอกที่ ๒ แต่ขนาดเล็กกว่าหรือลดรูปเป็นติ่งเล็ก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ยาวประมาณ ๑ มม.

 หญ้าขนแม่ม่ายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามชายป่าทั่วไป ในต่างประเทศพบในเขตร้อนทั่วโลก ยกเว้นทวีปอเมริกา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขนแม่ม่าย-หญ้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Centotheca lappacea (L.) Desv.
ชื่อสกุล
Centotheca
คำระบุชนิด
lappacea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Desvaux, Nicaise Auguste
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Desvaux, Nicaise Auguste (1784-1856)
ชื่ออื่น ๆ
หญ้าอีเหนียว (กลาง); เหนียวหมา, เหล็กไผ่ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางชุมศรี ชัยอนันต์