ขนุนปาน

Artocarpus rigidus Blume subsp. asperulus R. H. Jarrett

ไม้ต้น โคนเป็นพอนต่ำ เปลือกนอกสีเทา ทุกส่วนมียางขาว ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ ดอกแยกเพศร่วมต้นและต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ผลแบบผลรวม ผลย่อยแบบผลมีเนื้อเมล็ดเดียว สุกสีส้ม

ขนุนปานเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๓๕ ม. ทุกส่วนมียางขาว เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นตรง โคนต้นเป็นพอนต่ำ เปลือกสีเทาเข้ม เรียบ มีรอยแตกตื้น ๆ หรือเป็นสะเก็ด มีช่องอากาศทั่วไป กระพี้สีเหลืองอ่อน กิ่งแก่มักมีรอยย่น เกลี้ยงหรือมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ค่อนข้างกว้าง ขนาดแตกต่างกันมาก กว้าง ๖-๑๔ ซม. ยาว ๘-๒๓ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนสอบหรือมน ขอบค่อนข้างเรียบหรืออาจจักตื้นห่าง ๆ ใกล้ปลายใบ ใบของต้นกล้าเว้าลึกเป็นแฉก ๆ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยงหรือมีขนประปรายเฉพาะตามเส้นกลางใบและเส้นใบ ด้านล่างมีขน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๘ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. มีขน

 ดอกแยกเพศร่วมต้นและต่างช่อ ช่อดอกออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุกแน่น รูปกลมหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๒-๒.๕ ซม. ประกอบด้วยดอกเพศผู้ขนาดเล็กมากอัดกันแน่น ผิวเรียบ สีเหลือง ก้านช่อยาว ๒-๔ มม. ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลรวม อวบน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๑๕ ซม. สีเขียวอมเหลือง สุกสีส้ม ประกอบด้วยผลย่อยแบบผลมีเนื้อเมล็ดล่อน รูปไข่ ขนาดเล็กจำนวนมากอัดกันแน่นบนแกนเป็นช่อกลม ปลายผลย่อยแต่ละอันมีหนามแข็งรูปเจดีย์ ทำให้ผิวของผลรวมมีหนามอัดกันแน่น ก้านผลรวมยาว ๑-๒ ซม. เมล็ดมีเยื่อสีส้มผิวเป็นมันหุ้ม

 ขนุนปานมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นกระจัดกระจายในป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 ผลกินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขนุนปาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Artocarpus rigidus Blume subsp. asperulus R. H. Jarrett
ชื่อสกุล
Artocarpus
คำระบุชนิด
rigidus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. asperulus
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- R. H. Jarrett
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข