ขนุนนก

Palaquium obovatum (Griff.) Engl.

ชื่ออื่น ๆ
ชาง (จันทบุรี), เตียวพรุ (ใต้)
ไม้ต้น โคนเป็นพอนต่ำ เปลือกนอกสีเทา กิ่งมักลู่ลง ทุกส่วนมียาวขาว ใบเรียงเวียน รูปไข่ ดอกสีเหลือง ออกเป็นกระจุกรอบกิ่งใต้กลุ่มใบ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่หรือรูปไข่กลับ

ขนุนนกเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๓๕ ม. ลำต้นตรง ทุกส่วนมียางขาว โคนต้นเป็นพอนต่ำ เปลือกสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามยาวไม่เป็นระเบียบ เปลือกในสีชมพูอ่อน เรือนยอดเป็นพุ่มทรงรีแน่นทึบ กิ่งล่างมักลู่ลง ตามกิ่งมักปรากฏรอยย่นและรอยแผลใบ ยอดและกิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง รูปไข่กลับ กว้าง ๖-๑๒ ซม. ยาว ๑๒-๒๕ ซม. ปลายมนกว้าง โคนสอบ เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๔ เส้น นูนเป็นโครงคล้ายก้างปลาทางด้านล่าง ปลายโค้งขึ้นจรดกันใกล้ขอบใบ แผ่นใบหนาและหยาบ ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีนวล ก้านใบยาว ๒-๓ ซม.

 ดอกสีเหลืองอ่อน บานตอนพลบค่ำ กลิ่นหอมเอียน ออกเป็นกระจุกรอบกิ่งเหนือรอยแผลใบ และอยู่ใต้กลุ่มใบ เมื่อดอกบานเต็มที่ดูคล้ายกับกลุ่มช่อดอกรูปทรงกระบอกบนกิ่งใต้กลุ่มใบ ก้านดอกยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนประปราย กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ ยาว ๓-๔ มม. เรียงเป็น ๒ วง วงละ ๓ กลีบ ขอบกลีบวงนอกจรดกัน ส่วนขอบกลีบวงในเกยซ้อนกัน กลีบด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ยาว ๓-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๖ แฉก รูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมน ขอบเกยซ้อนกัน เกสรเพศผู้ ๑๒ อัน ติดอยู่บริเวณโคนแฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวถึง ๒.๕ ซม. โผล่พ้นปากหลอดดอก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว ๒.๕-๓ ซม. ปลายผลมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ ฐานผลมีกลีบเลี้ยงติดทน มี ๑-๒ เมล็ด ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีเนื้อนุ่มหนาหุ้ม

 ขนุนนกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบทั่วไปตามชายป่าดิบชื้น และป่ารุ่นหรือป่าใสอ่อน ตามเชิงเขาใกล้ฝั่งทะเล จนถึงพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา และภูมิภาคมาเลเซีย

 ไม้ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน แจว พาย เครื่องกลึง รอด ตง พื้น ฯลฯ ยางใช้ทำลูกกอล์ฟ หุ้มสายเคเบิลใต้น้ำ แก่นมีรสหวาน ต้มกินแก้คุดทะราด แก้เสมหะ แก้โลหิตพิการ แก้กำเดา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขนุนนก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Palaquium obovatum (Griff.) Engl.
ชื่อสกุล
Palaquium
คำระบุชนิด
obovatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William
- Engler, Heinrich Gustav Adolf
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William (1810-1845)
- Engler, Heinrich Gustav Adolf (1844-1930)
ชื่ออื่น ๆ
ชาง (จันทบุรี), เตียวพรุ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข