ขนุน

Artocarpus heterophyllus Lam.

ชื่ออื่น ๆ
มะหนุน (เหนือ, ใต้); หมักหมี้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้ต้น มักแตกกิ่งต่ำ ทุกส่วนมียางสีขาว ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบตามกิ่งหรือลำต้น ดอกสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อนอัดแน่นอยู่บนแกนกลางช่อรูปทรงกระบอก ผลแบบผลรวม รูปทรงรีหรือค่อนข้างกลม ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรี เมล็ดรูปทรงรีหรือค่อนข้างกลมมี ๑ เมล็ด

ขนุนเป็นไม้ต้น สูง ๘-๒๐ ม. ทุกส่วนมียางสีขาวมักแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปกรวยค่อนข้างทึบลำต้นตรง เปลือกสีเทา ค่อนข้างเรียบ มีรอยแตกตื้น ๆ ตามยาว และมีช่องอากาศทั่วไป กิ่งอ่อนมีคราบสีนวลหรือสีเทามีรอยหูใบควั่นเป็นข้อ ๆ และรอยแผลใบทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๙-๑๕ ซม. ปลายแหลมหรือป้าน และปลายสุดมักเป็นติ่งแหลม แผ่นใบค่อนข้างหนาด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจาง มีขนสากประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. เมื่ออ่อนมีขนประปราย หูใบรูปคล้ายกรวยแหลมหุ้มยอด ยาว ๑-๒ ซม. มีขนประปรายทางด้านนอก ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบตามกิ่งหรือลำต้น ช่อดอกเพศผู้ออกเดี่ยว รูปทรงกระบอก กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. สีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อน ก้านช่อยาว ๑-๕.๕ ซม. มีกาบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๖.๕ ซม. หุ้มอยู่ และกาบจะหลุดร่วงไปเมื่อช่อดอกเจริญขึ้น ช่อดอกประกอบด้วยดอกเพศผู้ขนาดเล็กจำนวนมาก อัดแน่นบนแกนกลาง กลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายมีหยักตื้น ๔ หยัก เกสรเพศผู้ ๑ เกสร ช่อดอกเพศเมียออกหนึ่งถึงหลายช่อ รูปรี กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๔-๗ ซม. สีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อน ก้านช่อยาว ๓-๑๐ ซม. มีกาบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๘ ซม. หุ้มอยู่ และกาบจะหลุดร่วงไปเมื่อช่อดอกเจริญขึ้น ช่อดอกประกอบด้วยดอกเพศเมียขนาดเล็กจำนวนมาก อัดแน่นบนแกนกลางกลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี มี ๒ ช่อง แต่เจริญเพียงช่องเดียว มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ แฉก

 ผลแบบผลรวม มีเนื้อ รูปทรงรีหรือค่อนข้างกลมกว้างประมาณ ๓๐ ซม. ยาวประมาณ ๕๐ ซม. ผิวขรุขระเป็นปุ่มปมคล้ายหนามทู่ ผลย่อยขนาดเล็กแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรี ผนังผลเป็นเยื่อบางสีนวลหรือสีเหลืองอ่อน มีกลีบรวมเป็นเนื้อนุ่มหุ้มอยู่ ผลย่อยอัดแน่นและติดกับแกนกลางช่อ ระหว่างผลมีซังซึ่งเป็นดอกที่ไม่เจริญแทรกอยู่ เมล็ดรูปทรงรีหรือค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม. มี ๑ เมล็ด

 ขนุนเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอินเดียนำเข้ามาปลูกเป็นไม้ผลทั่วภาคพื้นเขตร้อนชื้น รวมทั้งประเทศไทยที่มีการปลูกตามสวนทั่วประเทศ โดยปลูกในที่สูงจากระดับทะเลไม่เกิน ๑,๐๐๐ ม. เป็นพืชที่มีพันธุ์ปลูกมากกว่า ๒๐ พันธุ์ ออกดอกและเป็นผลตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม

 ประโยชน์ เนื้อหุ้มผลย่อยรสหวานหอม กินสดหรืออบแห้ง หรือทำเป็นน้ำผลไม้คั้น เมล็ดเมื่อทำให้สุกกินได้ผลอ่อนใช้เป็นผัก ใบใช้เลี้ยงสัตว์ แก่นให้สีเหลืองใช้เป็นสีย้อมผ้า เนื้อไม้สีเหลืองอ่อนใช้ในการก่อสร้างและทำเครื่องเรือน กล่าวกันว่าขี้เถ้าจากรากและเปลือกสดจากลำต้นใช้รักษาแผลสดได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขนุน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Artocarpus heterophyllus Lam.
ชื่อสกุล
Artocarpus
คำระบุชนิด
heterophyllus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lamarck, Jean-Baptiste Pierre Antoine de Monet de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1744-1829)
ชื่ออื่น ๆ
มะหนุน (เหนือ, ใต้); หมักหมี้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย