ก้ามกุ้งสยาม

Phyllagathis siamensis Cellinese & S.S.Renner

ไม้ล้มลุกไร้ลำต้นเหนือดิน มีเหง้าเป็นปุ่มปม ใบออกจากเหง้า ส่วนใหญ่มี ๑ ใบ รูปไข่ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกจากเหง้า ดอกสีม่วงอมชมพู ผลแบบผลแห้งแตก รูปถ้วย ด้านบนแตกเป็น ๔ ลิ้น

ก้ามกุ้งสยามเป็นไม้ล้มลุก สูง ๒๕-๔๐ ซม. ไร้ลำต้นเหนือดิน มีเหง้ารูปร่างหลายแบบ ยาว ๓-๖ ซม. เหง้าเป็นปุ่มปม

 ใบเดี่ยว ออกจากเหง้า ส่วนใหญ่มีเพียง ๑ ใบ หายากที่มี ๒ ใบ ใบรูปไข่ กว้าง ๑๐-๒๐ ซม. ยาว ๑๒-๓๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยแผ่นใบบาง มีขนยาวละเอียดทั้ง ๒ ด้าน เส้นโคนใบ ๙-๑๑ เส้น ปลายมักโค้งจรดกันที่ปลายใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑๐-๑๕ ซม. ใบประดับเป็นเส้นเล็ก ๆ ยาวไม่เกิน ๑ มม.

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกจากเหง้า ๑-๔ ช่อ อาจพบที่เป็นช่อแยกแขนงบ้าง ช่อตั้ง ก้านช่อดอกยาว ๑๐-๒๕ ซม. ทั้งก้านใบและก้านช่อดอกสีม่วงแดง อวบน้ำ มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นและมีขนต่อมกระจายห่าง ๆ ดอกสีม่วงอมชมพู ก้านดอก ยาว ๔-๗ มม. เกลี้ยงหรือมีขนต่อมกระจาย ฐานดอกรูปถ้วย ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนยาวห่าง ๆ ขอบมีกลีบเลี้ยงสั้น ๆ ๔ กลีบ กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแหลม แต่ละกลีบมีขนแข็ง ๑ เส้น ดอกตูมกลีบดอกบิดเวียนเกสรเพศผู้ ๔ อัน รูปร่างและขนาดเท่ากัน อับเรณูสีเหลืองรูปใบหอก แตกด้านบน ๑ รู ในดอกตูมก้านชูอับเรณูม้วนงอ อยู่ในฐานดอก แกนอับเรณูขยายใหญ่เป็นสันแบนตามแนวยาวรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เชื่อมติดกับฐานดอก มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก เหนือรังไข่มีเกล็ด ๔ เกล็ดรอบโคนก้าน


ยอดเกสรเพศเมีย ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวเท่ากับกลีบดอกปลายแหลม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปถ้วย ยาว ๓-๔ มม. กลมหรือเกือบเป็นสี่เหลี่ยม ด้านบนแตกเป็น ๔ ลิ้น มีสันตามยาว ๘ สัน เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายเป็นจะงอยเล็ก ผิวมีปุ่มเล็ก ๆ

 ก้ามกุ้งสยามเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตามก้อนหินในที่ร่มและที่ชื้นริมลำธารในป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. บางครั้งเป็นพืชอิงอาศัย ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ก้ามกุ้งสยาม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Phyllagathis siamensis Cellinese & S.S.Renner
ชื่อสกุล
Phyllagathis
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Renner, Susanne S. (1954- )
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Renner, Susanne S. (1954- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี