ก่อเกรียม

Rinorea lanceolata (Wall.) Kuntze

ชื่ออื่น ๆ
คอแห้ง, เหลียงฟาน (ชุมพร); ผักหวานช้างโขลง (พังงา); อีกริม (ตรัง)
ไม้พุ่ม ใบเรียงสลับ รูปใบหอก ผิวใบด้านล่างสีเขียวอมเหลือง ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาวอมเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมรีหรือรูปไข่ มีขน มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเจริญขึ้นมารองรับ

ก่อเกรียมเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๑.๕ ม. หรือไม้ต้น สูงถึงประมาณ ๗ ม. เปลือกบาง เรียบ สีเทา

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก รูปรี หรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ปลายแหลมยาว โคนแหลม ขอบจักถี่ตื้น ๆ แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียว เป็นมันมีขนประปรายตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ด้านล่างสีเขียวอมเหลือง มีขนทั่วไป ก้านใบยาว ๐.๓-๑.๒ ซม. หูใบรูปใบหอก ยาว ๐.๓-๒ ซม. ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบหรือเหนือรอยแผลใบ ยาว ๑-๓ ซม. มีขนทั่วไป ดอกออกแน่นเป็นกลุ่มใกล้ปลายช่อ มี ๓-๘ ดอก สีขาวอมเหลือง ก้านดอกยาว ๔-๘ มม. ใบประดับยาว ๒-๓ มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปรี รูปไข่ หรือกลม กลีบดอก ๕ กลีบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๔-๗ มม. ผิวด้านนอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ที่โคน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมรีหรือรูปไข่ ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. มีขน ปลายผลมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดค้างเป็นติ่งแหลมผลอ่อนผิวสด สีเขียว ผลแก่สีน้ำตาล แตกตามยาวออกเป็น ๓ ส่วน ผนังผลหนา ผลมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเจริญขึ้นมารองรับ ส่วนใหญ่มีเมล็ดรูปรี ๓ เมล็ด

 ก่อเกรียมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้นที่ค่อนข้างโปร่งใกล้น้ำ บนพื้นที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนักในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย เกาะสุมาตราและเกาะชวา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ก่อเกรียม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rinorea lanceolata (Wall.) Kuntze
ชื่อสกุล
Rinorea
คำระบุชนิด
lanceolata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Kuntze, Carl (Karl) Ernst (Eduard) Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Kuntze, Carl (Karl) Ernst (Eduard) Otto (1843-1907)
ชื่ออื่น ๆ
คอแห้ง, เหลียงฟาน (ชุมพร); ผักหวานช้างโขลง (พังงา); อีกริม (ตรัง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข