ก่อสร้อย

Carpinus viminea Wall. ex Lindl.

ชื่ออื่น ๆ
ก่อหัด (เพชรบูรณ์); สนสร้อย, ส้มพอหลวง (เลย); เส่ปอบล๊ะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)
ไม้ต้น ตามกิ่งมีช่องอากาศมาก ใบเรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายเรียวแหลมเป็นหางยาว ขอบจักฟันเลื่อย ๒-๓ ชั้น ช่อดอกแบบช่อหางกระรอก แยกเพศร่วมต้น ช่อดอกเพศผู้ออกตามง่ามใบ ห้อยลง ช่อดอกเพศเมียออกตามปลายกิ่ง ตั้งขึ้น ดอกสีเขียวอ่อน ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปไข่ มีใบประดับรองรับ

ก่อสร้อยเป็นไม้ต้น สูงประมาณ ๒๐ ม. เปลือกสีเทามีลายเป็นทางสีดำ กิ่งมีช่องอากาศเป็นตุ่ม ๆ จำนวนมาก ยอดอ่อนมีขนเล็กน้อย

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๑๑ ซม. ปลายเรียวแหลมเป็นหางยาวโคนสอบ มนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อยซ้อน ๒ ถึง ๓ ชั้น แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านล่างมีขนเล็กน้อยตามเส้นกลางใบเส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น ตรงและขนานกัน เห็นได้ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีขน

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อแบบช่อหางกระรอกช่อดอกเพศผู้ออกตามง่ามใบ ยาว ๒.๕-๕ ซม. ห้อยลง ใบประดับรูปไข่ มีสันนูน ปลายแหลม มีขนตามขอบ อับเรณูมีขนยาวกระจุกหนึ่งอยู่ด้านบน ช่อดอกเพศเมียออกที่ยอด ตั้งตรงหรือเกือบตรง ยาว ๕-๑๐ ซม. มีดอกห่าง ๆ ใบประดับรูปยาวแคบ

 ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปไข่ ปลายแหลม ยาว ๕-๗ มม. มีเส้นนูนตามยาว ๗-๘ เส้น มีต่อมให้ยางเหนียวเป็นจุด ๆ ใบประดับเจริญขึ้นเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๒-๒.๕ ซม. ข้างซ้ายและข้างขวาขนาดไม่เท่ากัน มีเส้นนูน ๓-๔ เส้น ขอบจัก

 ก่อสร้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นในที่อากาศเย็น ตามภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐-๙๐๐ ม. ขึ้นไป ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฎาน พม่า ลาว และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ก่อสร้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Carpinus viminea Wall. ex Lindl.
ชื่อสกุล
Carpinus
คำระบุชนิด
viminea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Lindley, John
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Lindley, John (1799-1865)
ชื่ออื่น ๆ
ก่อหัด (เพชรบูรณ์); สนสร้อย, ส้มพอหลวง (เลย); เส่ปอบล๊ะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์