ก่องข้าวทีโอ

Abutilon theophrasti Medik.

ไม้ล้มลุก เกือบทุกส่วนมีขนรูปดาวและขนธรรมดาปะปนกัน ใบเรียงเวียน รูปหัวใจหรือค่อนข้างกลม ดอกสีเหลืองออกตามง่ามใบ ผลแบบแยกแล้วแตก รูปกลมแป้น

ก่องข้าวทีโอเป็นไม้ล้มลุก สูง ๑-๒ ม. ลำต้นมีขนรูปดาวและขนธรรมดาปะปนกัน แตกกิ่งมาก

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนห่าง ๆ รูปหัวใจหรือค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๑.๕-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ขอบหยักมน หยักซี่ฟัน หรือเรียบ ด้านบนมีขนยาวรูปดาว ด้านล่างมีขนอุย เส้นโคนใบ ๗-๑๑ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๑-๓ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๓๐ ซม. มีขนหูใบรูปแถบ ยาวประมาณ ๘ มม. ปลายแหลม มีขน

 ดอกเดี่ยว ออกตามง่ามใบ สีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๒ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๓ ซม. มีข้อต่อห่างจากโคนดอกประมาณ ๕ มม. มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง โคนติดกันเป็นรูประฆัง กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ ๕ แฉก กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขนสั้น กลีบเลี้ยงติดทนจนกระทั่งเป็นผล กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กว้างถึงค่อนข้างกลม กว้าง ๘-๙ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายกลีบมนกว้าง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก โคนเชื่อมกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็นก้านชูอับเรณูสั้น ๆ ติดกันเป็นกระจุกกลม อับเรณูกลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่กว้าง อยู่ภายในเส้าเกสรเพศผู้ มี ๑๐-๑๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๑๐-๑๖ ก้าน

 ผลแบบแยกแล้วแตก รูปกลมแป้น กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. เมื่อแก่แยกออกเป็นเสี้ยวผล ๑๐-๑๖ เลี้ยว รูปไต แบน กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๑ ซม. ปลายมีหนามแหลมยาว ๒ อัน มีขนประปราย


ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง แก่จัดสีน้ำตาลอ่อน แต่ละเสี้ยวผลมี ๑-๒ เมล็ด รูปไต สีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ ๓ มม. มีขน

 ก่องข้าวทีโอมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามที่รกร้าง ป่าละเมาะ และตามที่โล่ง ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนมากพบในเขตอบอุ่น

 ทั้งต้นใช้แก้ปวดข้อ เมล็ดใช้ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ใช้หล่อลื่นภายนอก แก้บิด แก้ตาเจ็บ และแก้หูหนวก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ก่องข้าวทีโอ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Abutilon theophrasti Medik.
ชื่อสกุล
Abutilon
คำระบุชนิด
theophrasti
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Medikus, Friedrich Kasimir
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1736-1808)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์