ก่อ

-

-

มีด้วยกันทั้งหมด ๓ วงศ์ย่อย ๘ สกุล จำนวน ๘๐๐-๙๐๐ ชนิด มีรูปลักษณะกว้าง ๆ ดังนี้

 เป็นไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ หายากที่เรียงในระนาบเดียวกัน มีหูใบ การผสมพันธุ์อาศัยลม (anemophilous) หรืออาศัยแมลง (entomophilous) ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกลุ่มเว้นระยะบนช่อดอก บางครั้งกลุ่มดอกนี้ลดลงเหลือเพียงดอกเดียว วงกลีบรวม ๖ กลีบ ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๖-๑๒ อัน ถึงจำนวนมาก อาจมีเกสรเพศเมียเป็นหมันหรือไม่มีดอกเพศเมียมีกลุ่มละ ๒-๓ ดอก หรือมีเพียงดอกเดียว ยอดเกสรเพศเมียมี ๓-๖ แฉก รังไข่มี ๓-๖ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ติดแขวนอยู่ตอนบน ออวุลมีเปลือกหุ้ม ๒ ชั้น ผลเปลือกแข็ง มีเพียงเมล็ดเดียว มีกาบหุ้มผล (cupule) รองรับ จำนวน ๑-๓ ผลต่อกาบ

 พรรณไม้ในวงศ์นี้มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วโลก สําหรับสกุล Castanopsis และ Trigonobalanus พบเฉพาะในทวีปเอเชีย

 ก่อมเนื้อไม้แข็งทนทานและมีลายสวยงาม ใช้ในการก่อสร้าง ต่อเรือ ทำถังเก็บสุรา ใช้ประกอบเครื่องเรือนชั้นดี ใช้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดหอม ทำฟืนและถ่าน ไม้ให้ความร้อนสูง ในประเทศไทยไม่นิยมใช้ในการก่อสร้าง เพราะไม้ก่อของไทย หลังจากตัดฟันมักจะแตกกลางเนื่องจากมีความชื้นสูง นอกจากบางชนิด เช่น ก่อแดง (Castanopsis hystrix A.DC.) ที่ใช้กันบ้างในบางท้องที่

 ผลของไม้ก่อทุกชนิดเป็นอาหารของสัตว์ป่า เช่น เก้ง กวาง หมี หมูป่า กระรอก และนกบางชนิด ผลก่อในสกุล Castanea หลายชนิดมีรสดี ชนิดที่นิยมกินกันเป็นอาหารและซื้อขายกันในราคาแพง เรียกกันว่า เกาลัด หรือ เชสต์นัต (chestnut) เช่น ชนิดยุโรป (Castanea sativa Mill.) ชนิดอเมริกัน (C. dentata Bork.) ชนิดญี่ปุ่น (C. Crenata Siebold & Zucc.) และเกาลัดจีน (C. mollissima Blume) ผลก่อในสกุล Castanopsis กินได้เช่นกัน แต่รสผลก่อของสกุล Castanea ไม่ได้ ผลของก่อชนิด Quercus acutissima Carruth, ใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีดำ

 ปุ่มหูด (gall) ที่เกิดจากแมลงเจาะใบหรือกิ่งอ่อนเพื่อวางไข่ ใช้เป็นยาฝาดสมาน เรียกกัน ลูกเบญกานี (nutgall) ใบของก่อชนิด Q. aliena Blume และ Q. acutissima Carruth. ใช้เลี้ยงหนอนไหมป่า ซึ่งเป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนสกุล Attacus

 เปลือกก่อมีแทนนินสูง ใช้ในการฟอกย้อมหนังได้ดี ทางภาคเหนือของประเทศไทยมีการทำเปลือกก่อสีเสียด (Q. brandisiana Kurz) เป็นสินค้ากันมาก เปลือกก่อบางชนิดหนามาก เช่น ชนิด Q. suber L. ซึ่งเป็นพรรณไม้แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เรียกกันว่า ไม้ก๊อก ใช้ทำทุกชนิดคุณภาพดี ทำหมวกกันแดด และพื้นรองเท้า

 ในประเทศไทยเท่าที่ได้สํารวจพบมีอยู่ด้วยกัน ๒ วงศ์ย่อย คือ วงศ์ย่อย Castaneoideae ได้แก่ สกุล Castanopsis และ Lithocarpus วงศ์ย่อย Quercoideae ได้แก่ สกุล Quercus และ Trigonobalanus

 ก่อในสกุล Castanopsis เรียกกันทั่วไปว่า ก่อหนาม หรือ ก่อกินลูก ตามลักษณะผล เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๒๐-๓๐ ม. ลำต้นเปลา เปลือกเหนียว บางครั้งผิวล่อนเป็นกาบ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ขอบเรียบหรือเป็นจักหยาบ ๆ ตลอดใบหรือตอนปลายใบ ด้านล่างมีเกล็ดสีน้ำตาลหรือสีเงินเป็นเงา ช่อดอกตรง ตั้งขึ้น ดอกแยกเพศต่างช่อหากอยู่ช่อเดียวกันดอกเพศผู้จะอยู่ปลายช่อ ดอกเพศผู้มี ๖ กลีบ เกสรเพศผู้ ๑๒ อัน หรือน้อยกว่า ก้านชูอับเรณูเรียวยาวอับเรณูเล็ก เกสรเพศเมียใหญ่มีขนรุงรังแต่ไม่สมบูรณ์ ดอกเพศเมียมีจำนวนกลีบเท่าดอกเพศผู้แต่เล็กกว่า ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ หรือ ๔ แฉก ปลายแฉกมีรู รังไข่มี ๓ ช่อง แต่ละดอกหรือกลุ่มดอกมีกาบหุ้มผลรองรับโดยรอบ กาบหุ้มผลมีหนามหุ้มตลอดผลหรือหุ้มเพียงบางส่วน เมื่อแก่จัดจะปริแยกออกจากกัน แต่ละกาบมี ๑-๓ ผล ผลล่อนหรือติดกับกาบ พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบ

 ในประเทศไทยมีประมาณ ๒๖ ชนิด ที่พบมากคือ

 ก่อเดือย (Castanopsis acuminatissima (Blume) A.DC. ชื่อพ้อง Castanea acuminatissima Blume, C. sessilifolia Blume; Pasania acuminatissima (Blume) Oerst.; Quercus junghuhnii Miq., Q. varingaefolia Miq.; Synaedrys fagiformis (Jungh.) Koidz., Castanopsis Schlenkerae Bailey] ขอบใบจักห่าง ๆ ตอนปลายใบ แผ่นใบไม่มีขน กาบหุ้มผลเบี้ยว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มีหนามสั้นเป็นกระจุกห่าง ๆ หุ้มผลเดียว ผลล่อนจากกาบพบทั่วไป

 ก่อหยุม (Castanopsis argyrophylla King ex Hook.f.) ขอบใบเรียบ แผ่นใบไม่มีขน แต่ด้านล่างมีเกล็ดสีเงินเป็นเงา กาบหุ้มผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ ซม. มีหนามยาวค่อนข้างห่างหุ้ม ๑-๓ ผล ผลติดกับกาบ พบทางภาคเหนือ

 ก่อแป้น (C. diversifolia (Kurz) King ชื่อพ้อง C diversifolia Kurz) ขอบใบเรียบ มีขนสั้น ๆ ทั้ง ๒ ด้าน กาบหุ้มผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๕-๕ ซม. ปริแยกออกจากกัน มีหนามยาวเรียวเรียงชิดติดกัน สั้นยาวไม่เสมอกัน หุ้มผลเดียวหรือ ๒ ผล ผลล่อนจากกาบ พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 ก่อแดง (C. hystrix A.DC.) ขอบใบจักห่าง ๆ ตอนปลาย ด้านล่างมีเกล็ดและขนสีน้ำตาล กาบหุ้มผลกลม เนื้อหนาแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๓.๕ ซม. ปริแยกออกจากกันมีหนามเป็นกระจุกค่อนข้างห่าง มีขนสีน้ำตาล หุ้มผลเดียว ผลล่อนจากกาบ พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 ก่อลิ่ม [C. indica (Roxb.) A.DC. ชื่อพ้อง Castanea indica Roxb.] ขอบใบจักห่าง ๆ ตลอดใบ ปลายจักแหลมด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน มีขนสั้น ๆ กาบหุ้มผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ ซม. มีหนามยาวเรียวเรียงชิดกัน หนามมีขนบาง ๆ หุ้ม ๑-๒ ผล ผลล่อนจากกาบ พบทางภาคเหนือ

 ก่อในสกุล Lithocarpus เรียกกันทั่วไปว่า ก่อก้างด้าง หรือ ก่อพวง ตามลักษณะของช่อผล เป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๓๐ ม. ลำต้นเปลา เปลือกแข็งเปราะ ชั้นในแทรกเข้าไปในเนื้อไม้ตื้น ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างโปร่ง ใบเดี่ยว เรียงสลับ ขอบเรียบ หายากที่ขอบจัก

 ช่อดอกออกเดี่ยวหรือแยกแขนงตั้งขึ้น ดอกแยกเพศต่างช่อ ถ้าอยู่บนช่อเดียวกันดอกเพศผู้จะอยู่ปลายช่อ เกสรเพศผู้ ๑๒ อัน ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูเล็ก เกสรเพศเมียเป็นหมัน มีขน ดอกเพศเมียออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓-๕ ดอก แต่ละดอกมีกาบหุ้มผลรองรับ รังไข่มี ๓ ช่อง ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ตั้งตรงหรือเบนออกจากกัน ปลายแฉกมีรูกาบรูปถ้วยมีเกล็ดเรียงซ้อนเหลื่อมในระนาบเดียวกันเป็นชั้น ๆ หรือเชื่อมติดกันแต่ละชั้น หรือลดลงเป็นเพียงสันต่ำ ๆ หุ้มตอนโคนผล หรือหุ้มปิดผลเว้นเฉพาะตอนปลายสุด

 ผลกลมแกมรูปไข่ ปลายตัดหรือเว้าเป็นแอ่ง ส่วนใหญ่ พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบ เพียงน้อยชนิดที่ขึ้นในป่าเบญจพรรณแล้ง

 ในประเทศไทยเท่าที่สํารวจแล้วมีประมาณ ๕๐ ชนิด ที่พบมากคือ

 ก่อเหน่ง (Lithocarpus elegans (Blume) Hatus. ex Soepadmo ชื่อพ้อง Quercus elegans Blume; Lithocarpus grandifolius (D.Don) S.N.Biswas, L. microcalyx (Korth.) A.Camus, L. Thioensis (Hance) A.Camus, L. spicata (Sm.) Rehder var. elegans (Blume) A.Camus, L. spicatus (Sm.) Rehder & G.F.Wilson; Pasania spicata (Sm.) Oerst; Quercus spicata Sm., Q. racemosa Jack, Q. depressa Blume, Q. gracilipes Miq., Q. grandifolius D.Don, Q. microcalyx Korth., Q. pyrifolia Blume, Q. rhioensis Hance, Q. sphacelata Blume] ใบค่อนข้างหนา ขอบเรียบ ผลกลม ปลายหยักเว้าอยู่ติดกันบนช่อแยกกันหรือติดกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๒-๓ ผล กาบหุ้มผล ประมาณ ๑ ใน ๓ เกล็ดหนาเรียงเป็นชั้น ๆ ชิดกัน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. พบทั่วไป

 ก่อด่าง (Lithocarpus lindleyanus (Wall.) A.Camus ชื่อพ้อง Quercus lindleyana Wall.] ใบใหญ่ค่อนข้างหนา มีขนหนาแน่น ด้านล่างสีจางกว่าด้านบน ขอบเรียบผลเป็นเหลี่ยมปลายแหลมโคนติดกัน ออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓-๕ ผล กาบหุ้มผลกว้าง ๑-๑.๕ ซม. เกล็ดปลายเป็นติ่งเรียงเป็นวงซ้อนกันถี่ ๆ เนื้อกาบแข็ง หุ้ม ๑ ใน ๓ ของผลพบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 ก่อนก (Lithocarpus polystachyus (A.DC.) Render ชื่อพ้อง Quercus polystachya Wall. ใบค่อนข้างหนา ขอบเรียบ ผลรูปไข่ติดกันตรงโคน ๓-๕ ผล กาบหุ้มผลเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ มม. เกล็ดละเอียดเรียงเป็นวงซ้อนกันถี่ ๆ หุ้มเพียงโคนผล มีขนสั้น พบทั่วไปทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 ก่อก้างด้าง (Lithocarpus garrettianus (Craib) A.Camus) ใบค่อนข้างหนา ขอบเรียบ มีขนทั้ง ๒ ด้าน ผลกลมแกมรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. อยู่ชิดติดกันบนช่อ กาบหุ้มผลเนื้อบางหุ้มมิดผล เกล็ดยาวโค้งลง มีขน พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

 ก่อขี้ริว (Lithocarpus falconeri (Kurz) Render ชื่อพ้อง Quercus falconeri Kurz, Pasania falconeri (Kurz) Schott, Synaedrys falconeri (Kurz) Koidz.] ใบค่อนข้างหนา ขอบเรียบ ผลรูปไข่ ผิวเป็นมัน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๘ ซม. กาบหุ้มผลเป็นจานตื้น ๆ ขอบมักโค้งลง เกล็ดรูปไข่ปลายแหลมมีขนสีแดง เรียงชิดกันเป็นวง พบทางภาคใต้

 ก่อหมู (Lithocarpus wallichianus (Lindl. ex Hance) Rehder ชื่อฟ้อง Quercus wallichiana Lindl. ex Hance, Q. hyatrix Korth. var. longispica Gamble; Pasania wallichiana (Lindl. ex Hance) Gamble, Synaedrys wallichiana (Lindl. in Wall.) Koidz.] ใบค่อนข้างหนา ขอบเรียบ ปลายเป็นติ่งยาว ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลสั้น ๆ ผลกลมรูปหลังเบี้ย เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. กาบหุ้มผลหุ้มตอนโคนผล เกล็ดปลายแหลมติดเรียงเป็นวงซ้อนกัน มีขนนุ่มสีน้ำตาล พบทางภาคใต้

 ก่อหิน [Lithocarpus encleisacarpus (Korth.) A.Camus ชื่อพ้อง Quercus encleisacarpus Korth., Castanopsis encleisacarpa (Korth.) Render, Cyclobalanus encleisacarpa (Korth.) Oerst., Pasania encleisacarpa (Korth.) Gamble, Synaedrys encleisacarpa (Korth.) Koidz.] ใบค่อนข้างหนา ขอบเรียบ ปลายมนมีติ่งยาวด้านบนเป็นมัน ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ ซม. กาบหุ้มผลเนื้อบาง มีวงรอบเป็นสันขึ้น ๆ ลง ๆ หุ้มมิดผลเว้นช่องตอนปลายสุดมักปริแยกในบริเวณนี้ พบทางภาคใต้

 ก่อในสกุล Quercus เรียกกันทั่วไปว่า ก่อตลับ หรือ ก่อแอบ ตามลักษณะของผล เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบหรือผลัดใบในฤดูแล้ง สูง ๑๐-๓๐ ม. หายากที่เป็นไม้พุ่ม ลำต้นเปลา เปลือกแข็งเปราะ ชั้นในแทรกเข้าไปในเนื้อไม้ตื้น ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ขอบจักหรือหยักเว้า

 ช่อดอกสั้น ดอกแยกเพศต่างช่อ ดอกเพศผู้ออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๑-๓ ดอก ช่อห้อยลง กลีบดอก ๔-๖ กลีบ เกสรเพศผู้ ๖ อัน อับเรณูใหญ่ ดอกเพศเมียออกเดี่ยวตั้งขึ้น มีดอกน้อย รังไข่มี ๓ ช่อง ปลายแยกเป็น ๓ หรือ ๖ แฉก แฉกแบนแคบและโค้งลง

 ผลรูปไข่กลาย ๆ กลมหรือรูปลูกข่าง กาบหุ้มผลมีเกล็ดเรียงเหลื่อมกันหรือติดกันเป็นวง เรียงเป็นชั้น ๆ หุ้มผลไม่มิดขึ้นในป่าดิบระดับต่ำ ป่าเบญจพรรณแล้ง ส่วนใหญ่ขึ้นในป่าดิบระดับสูงปนกับก่อในสกุลอื่นและสนเขา (Pinus spp.)

 ในประเทศไทยมีประมาณ ๓๕ ชนิด ที่พบมากคือ

 ก่อตาควาย, ก่อสีเสียด, ก่อหนุน (Quercus brandisiana Kurz) ใบหนา ขอบจักตื้น แต่ห่างตอนปลาย ด้านล่างมีขนห่าง ๆ สีน้ำตาลแกมเหลือง ผลกลมรูปหลังเบี้ย เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ ซม. กาบหุ้มผลหุ้ม ๒ ใน ๓ ของผลเกล็ดเรียงกัน ๖-๘ แถว มีขนสีเทา ๆ พบทางภาคเหนือนิยมใช้เปลือกกินกับหมากแทนสีเสียด และใช้ฟอกหนัง

 ก่อขี้หมู, ก่อแอบหลวง, ก่อกับ (Q. helferiana A.DC.) ใบหนา ขอบใบจักตื้นแต่ห่างตอนปลาย ด้านล่างมีขนทึบสีน้ำตาล ผลรูปหลังเบี้ยหรือปลายตัด มีขน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๕ ซม. กาบหุ้มผลหุ้มโคนผล เกล็ดเรียงกัน ๘-๙ แถว มีขน พบขึ้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 ก่อแพะ, ก่อแอบ (Q. kerrii Craib) ใบค่อนข้างหนาขอบจักตื้นห่าง ๆ เกือบตลอดใบ ผลรูปหลังเบี้ยแบน ๆ เว้า ๆ เป็นแอ่ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. กาบหุ้มผลหุ้มโคนผลขอบค่อนข้างบาง เกล็ดเรียงกัน ๗-๙ แถว มีขน พบขึ้นมากทางภาคเหนือและกระจัดกระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

 ก่อกระดุม, ก่อตาหมูหลวง (Q. semiserriata Roxb.) ใบค่อนข้างหนา ขอบจักแหลมตอนกลางถึงปลายหรือบาง ผลกลมหรือรูปไข่กลาย ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม. กาบหุ้มผลหุ้ม ๑ ใน ๔ ถึง ๑ ใน ๓ ของผล เกล็ดเรียงกัน ๕-๙ แถว แถวบนเรียบไม่หยักเป็นรูปฟันเหมือนแถวล่าง ๆ มีขน พบขึ้นทั่วไป แต่ทางภาคใต้พบน้อย

 ก่อในสกุล Trigonobalanus เป็นไม้ต้น ผลัดใบในฤดูแล้ง สูง ๑๐-๑๕ ม. ลำต้นค่อนข้างเปลา เปลือกแข็งเปราะ ชั้นในแทรกเข้าไปในเนื้อไม้ตื้น ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่งใบเดี่ยว เรียงสลับ หรืออยู่ในระนาบเดียวกัน ๓-๔ ใบ ขอบจักแหลมค่อนไปทางปลายใบ

 ช่อดอกยาว ดอกแยกเพศต่างช่อ ดอกเพศผู้ออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๑-๓ ดอก ช่อห้อยลง เกสรเพศผู้ ๖ อัน อับเรณูใหญ่ ดอกเพศเมียออกเดี่ยว มีดอกจำนวนมาก เหลี่ยมเป็นสัน

 กาบหุ้มผลมีเกล็ดเรียงเหลื่อมกันไม่เป็นระเบียบ หุ้มผลเกือบมิดและปริแยกตอนปลาย ขึ้นในป่าดิบระดับสูง

 ในประเทศไทยมีชนิดเดียว คือ ก่อสามเหลี่ยม หรือ ก่อคอยช้าง [Trigonobalanus doichangensis (A.Camus) Forman] พบทางภาคเหนือ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ก่อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.เต็ม สมิตินันทน์