กูดแต้ม

Tectaria polymorpha (Wall. ex Hook.) Copel.

ชื่ออื่น ๆ
กูดแก้ว (เหนือ), กูดไก่ (เชียงราย), กูดหก (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน), กูดหัวเหล็ก (เชียงใหม่), เซ็งเขี่ยดู
เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าสั้น ตั้งตรง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ มีใบย่อย ๑-๕ คู่ ใบสร้างอับสปอร์แคบกว่าใบไม่สร้างอับสปอร์ ใบย่อยที่ปลายใหญ่กว่าใบอื่นเล็กน้อย ใบย่อยรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลมมีติ่งยาว ขอบเรียบ เส้นกลางใบย่อยมีขน แผ่นใบบาง กลุ่มอับสปอร์กลมหรือรูปไต เกิดที่ปลายเส้นใบย่อยภายในช่องว่างของเส้นใบ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เล็กและมีขน

กูดแต้มเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ตั้งตรงหรือค่อนข้างตั้งตรงมีเกล็ดแข็งสีน้ำตาล เป็นมัน รูปแถบแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ขอบเกล็ดสีจางกว่าส่วนอื่น

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓๐-๕๐ ซม. ยาว ๓๐-๖๐ ซม. ด้านบนแกนกลางมีขนมาก ด้านล่างเกลี้ยง ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม ยาว ๓๐-๘๐ ซม. โคนมีเกล็ดแน่น ตอนบนมีเกล็ดประปราย

 ใบย่อย ๑-๕ คู่ ใบสร้างอับสปอร์แคบกว่าใบไม่สร้างอับสปอร์ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม มีติ่ง โคนสอบถึงมน ขอบค่อนข้างเรียบหรือหยักซี่ฟัน ใบย่อยที่ปลายใหญ่กว่าใบอื่นเล็กน้อย


กว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ ซม. ส่วนที่กว้างที่สุดของใบอยู่ประมาณ ๒ ใน ๓ จากยอด แผ่นใบบาง เส้นกลางใบย่อยมีขนสั้น นูนทางด้านล่าง เส้นร่างแหเห็นได้ชัด มีเส้นสั้นอยู่ภายในช่องร่างแห ก้านใบย่อยคู่ล่างยาวประมาณ ๒.๕ ชม. และลดขนาดความยาวลงโดยลำดับไปหาใบย่อยคู่บนสุดกลุ่มอับสปอร์กลมหรือรูปไต อยู่บนเส้นสั้นในช่องร่างแหหรือตรงตำแหน่งที่สานเป็นร่างแห เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เล็กและมีขน

 กูดแต้มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นบนดินตามไหล่เขาในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา บนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันออก จีนตอนใต้ พม่า ศรีลังกา และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดแต้ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tectaria polymorpha (Wall. ex Hook.) Copel.
ชื่อสกุล
Tectaria
คำระบุชนิด
polymorpha
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Hooker, William Jackson
- Copeland, Edwin Bingham
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Hooker, William Jackson (1785-1865)
- Copeland, Edwin Bingham (1873-1964)
ชื่ออื่น ๆ
กูดแก้ว (เหนือ), กูดไก่ (เชียงราย), กูดหก (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน), กูดหัวเหล็ก (เชียงใหม่), เซ็งเขี่ยดู
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด