กูดแดง

Thelypteris nudata (Roxb.) Morton

เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าทอดขนานยาวใต้ดิน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปขอบขนาน ใบย่อยมีจำนวนคู่มาก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายเป็นติ่งยาวถึงเรียวแหลมเส้นใบย่อยสานกันเป็นรูปจันทร์เสี้ยว ไม่มีก้านใบ กลุ่มอับสปอร์กลม เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์มีขน

 กูดแดงเป็นเฟิร์น เหง้าทอดขนานใต้ดิน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. มีเกล็ดสีน้ำตาลและขน เกล็ดร่วงง่าย

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๕๐ ซม. ยาวประมาณ ๑ ม. หรือมากกว่าในใบที่เจริญเต็มที่ ก้านใบยาวประมาณ ๕๐ ซม. มีเกล็ด

 ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๔ ซม. ยาวประมาณ ๔๐ ซม. ปลายค่อย ๆ เรียวแหลมยาวโคนมนถึงสอบ ขอบค่อนข้างเรียบหรือหยักมน ไม่มีก้านใบ ใบย่อยที่ปลายโคนมนถึงตัด ขอบหยักปลายแหลม แผ่นใบสีเขียวบาง เรียบ เส้นใบสานกันเป็นร่างแห กลุ่มอับสปอร์อยู่บนเส้นใบย่อยภายในร่างแหของเส้นใบหรืออยู่ตรงกลาง เรียง ๒ ข้างเส้นกลางใบย่อยในแต่ละหยัก เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์มีขน

 กูดแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นบนดินในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน แถบเทือกเขาหิมาลัย พม่า และเวียดนามตอนเหนือ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Thelypteris nudata (Roxb.) Morton
ชื่อสกุล
Thelypteris
คำระบุชนิด
nudata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Morton, Julius Sterling
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Morton, Julius Sterling (1832-1902)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด