กูดแก้ว

Tectaria angulata (Willd.) C.Chr.

ชื่ออื่น ๆ
กูดแต้ม (เหนือ)
เฟิร์นขึ้นบนดินหรือบนก้อนหิน เหง้าสั้น ทอดขนานหรือตั้งตรง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ มีใบย่อย ๒-๖ คู่ รูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลมมีติ่งยาว ขอบเรียบ ใบย่อยคู่ล่างสุดหยักลึกเป็นแฉก แผ่นใบบาง กลุ่มอับสปอร์กลม อยู่ที่ปลายเส้นใบย่อยภายในช่องว่างของเส้นใบ เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เล็กและร่วงง่าย

กูดแก้วเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ทอดขนานหรือตั้งตรง มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปแถบแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ขอบเรียบ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๔๐ ซม. ยาวประมาณ ๕๐ ซม. แกนกลางสีน้ำตาลแดง ด้านบนมีขน ด้านล่างเกลี้ยงก้านใบสีน้ำตาลแดงหรือเกือบดำ เป็นมัน ยาวประมาณ ๖๐ ซม. โคนมีเกล็ดแน่น

 ใบย่อย ๒-๖ คู่ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๙ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมมีติ่งยาว โคนมนถึงรูปกึ่งหัวใจ ขอบเรียบ ใบย่อยคู่ล่างสุดหยักลึกเป็นแฉก ใบย่อยที่ปลายใบใหญ่ที่สุด รูปขอบขนานแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยมกว้างประมาณ ๑๒ ซม. ยาวประมาณ ๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลมและมีติ่ง แผ่นใบบาง เส้นกลางใบย่อยสีน้ำตาลแดง มีขนทางด้านบน นูนเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นร่างแหเห็นได้ชัด มีเส้นสั้นอยู่ภายในช่องร่างแห ก้านใบย่อยคู่ล่างยาวประมาณ ๒.๕ ซม. และลดขนาดความยาวลงตามลำดับไปหาใบย่อยคู่บนสุดกลุ่มอับสปอร์กลม อยู่บนเส้นสั้นในช่องร่างแห เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เล็กและร่วงง่าย

 กูดแก้วมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคใต้ ขึ้นตามพื้นดินใกล้ลำธารในป่าดิบแล้งที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดแก้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tectaria angulata (Willd.) C.Chr.
ชื่อสกุล
Tectaria
คำระบุชนิด
angulata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig von
- Christensen, Carl Frederik Albert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig von (1765-1812)
- Christensen, Carl Frederik Albert (1872-1942)
ชื่ออื่น ๆ
กูดแต้ม (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด