กูดฮอก

Dynaria sparsisora (Desv.) S.Moore

ชื่ออื่น ๆ
พังงา (นราธิวาส); ว่านงูกวัก, ว่าว (ปัตตานี)
เฟิร์นอิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน เหง้าทอดยาว อวบน้ำ ใบมีรูปร่างต่างกัน ๒ แบบ ใบไม่สร้างอับสปอร์รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน แผ่นใบเว้าลึกแบบขนนก มักเห็นเป็นสีน้ำตาลใบที่สร้างอับสปอร์รูปขอบขนาน ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉกแบบขนนก แฉกรูปขอบขนาน กลุ่มอับสปอร์กลมไม่มีเยื่อคลุม อยู่บนเส้นใบย่อยที่สานเป็นร่างแห

กูดฮอกเป็นเฟิร์นอิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน เหง้าทอดยาวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. มีเกล็ดหนาแน่น เกล็ดรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. โคนแบบก้นปิด ปลายแหลม ขอบสีน้ำตาล หยักซี่ฟันไม่แข็ง ตอนกลางสีน้ำตาลดำ

 ใบเดี่ยว มีรูปร่างต่างกัน ๒ แบบ ใบไม่สร้างอับสปอร์รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑๖-๒๒ ซม. ยาว ๑๗-๒๓ ซม. ขอบหยักเว้าแบบขนนก ลึกครึ่งหนึ่งจากขอบใบถึงเส้นกลางใบ ทำให้ใบมีลักษณะเป็นแฉก แฉกรูปขอบขนานแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๔ ซม. ยาวประมาณ ๖ ซม. ปลายแฉกมน ขอบเรียบ ไม่มีก้านใบ

 ใบไม่สร้างอับสปอร์ยังคงติดอยู่กับเหง้าได้นานจนกว่าจะผุพังไปตามกาลเวลา ใบสร้างอับสปอร์รูปขอบขนาน กว้าง ๒๕-๓๕ ซม. ยาว ๔๐-๕๐ ซม. ปลายแหลม โคนแผ่เป็นปีกทาบติดกับก้านใบ ขอบหยักเว้าลึกจนเกือบถึงเส้นกลางใบทำให้ใบเป็นแฉก แฉกรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๕ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ ซม. ปลายแฉกเรียวแหลมและเป็นเส้นยาว ขอบแฉกเรียบ เส้นกลางใบนูนเป็นสันเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห ๖-๘ แถวระหว่างเส้นกลางแฉก แผ่นใบเหนียว ก้านใบยาว ๑๒-๑๘ ซม. กลุ่มอับสปอร์กลม ไม่มีเยื่อคลุม อยู่บนเส้นใบย่อยที่สานกันเป็นร่างแห เรียงกระจัดกระจายทั่วไปบนแผ่นใบ

 กูดฮอกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นเกาะบนต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบทึบหรือในที่ค่อนข้างร่ม บนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ภูมิภาคโปลินีเซีย และเขตร้อนของออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดฮอก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dynaria sparsisora (Desv.) S.Moore
ชื่อสกุล
Dynaria
คำระบุชนิด
sparsisora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Desvaux, Nicaise Auguste
- Moore, Spencer Le Marchant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Desvaux, Nicaise Auguste (1784-1856)
- Moore, Spencer Le Marchant (1850-1931)
ชื่ออื่น ๆ
พังงา (นราธิวาส); ว่านงูกวัก, ว่าว (ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด