กูดหิน

Nephrolepis falcata (Cav.) C.Chr.

เฟิร์นขึ้นตามซอกหินหรือซอกต้นไม้ เหง้าสั้นตั้งตรง มีรากแข็งจำนวนมาก ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ มีใบย่อยได้ถึง ๕๐ คู่ คู่กลางขนาดใหญ่ที่สุด ใบย่อยรูปเคียว กลุ่มอับสปอร์รูปไตหรือกลม เรียงเป็นแถวใกล้ขอบใบ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บาง

กูดหินเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ตั้งตรงหรือเกือบตรง มีรากแข็งจำนวนมาก และมีไหลแตกสาขาจากซอกใบ เหง้ามีเกล็ดบาง ๆ ขอบสีน้ำตาลอ่อน ตอนกลางมีสีเข้มเกือบดำ เกล็ดกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแหลม โคนเรียว

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกรวมกันเป็นกระจุกรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑๕ ซม. ยาวประมาณ ๘๐ ซม. ก้านใบสีน้ำตาลอ่อน ยาวประมาณ ๒๐ ซม. โคนมีเกล็ด ใบย่อยมีได้ถึง ๕๐ คู่ รูปเคียว กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ยาวประมาณ ๘ ซม. คู่กลาง ๆ ใหญ่ที่สุด โคนของใบย่อยทางด้านใกล้ยอดมีติ่งหู โคนใบด้านตรงกันข้ามมน ขอบหยักมนแผ่นใบบาง เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ เห็นได้ชัดเจนทางด้านล่างกลุ่มอับสปอร์รูปไตหรือกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ มม. เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บาง

 กูดหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นบนก้อนหินในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Nephrolepis falcata (Cav.) C.Chr.
ชื่อสกุล
Nephrolepis
คำระบุชนิด
falcata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Cavanilles, Antonio José (Joseph)
- Christensen, Carl Frederik Albert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Cavanilles, Antonio José (Joseph) (1745-1804)
- Christensen, Carl Frederik Albert (1872-1942)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด