กูดผีสือ

Pteris cretica L. var. cretica

เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าตั้งตรงหรือทอดขนาน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปขอบขนาน มีใบย่อยประมาณ ๗ คู่ ใบที่สร้างอับสปอร์จะมีก้านใบยาวและแผ่นใบย่อยแคบกว่าใบที่ไม่สร้างอับสปอร์ ใบย่อยรูปขอบขนาน ปลายเรียวยาวโคนแคบ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบาง เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่กลุ่มอับสปอร์เรียงต่อเนื่องตามขอบใบ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์แคบ สีน้ำตาล

กูดผีสือเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ทอดขนานหรือตั้งตรง มีเกล็ดสีน้ำตาล ยาวประมาณ ๕ มม. ขอบเรียบ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเป็นกระจุก รูปขอบขนาน กว้าง ๖-๓๕ ซม. ยาว ๑๕-๔๐ ซม. ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลแดงหรือม่วงแดง ยาว ๑๐-๓๐ ซม. อาจยาวได้ถึง ๕๐ ซม. ก้านใบของใบสร้างอับสปอร์จะยาวกว่า

 มีใบย่อยประมาณ ๗ คู่ ใบไม่สร้างอับสปอร์กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๒๓ ซม. ใบสร้างอับสปอร์ กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. และเรียวยาวกว่า ปลายเรียวยาวถึงเป็นติ่งยาว โคนแคบ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบาง สีเขียวอ่อน ค่อนข้างเหนียว เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ ก้านใบย่อยสั้น


หรือไม่มี กลุ่มอับสปอร์เรียงตัวต่อเนื่องตามขอบใบย่อย เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์สีน้ำตาล

 กูดผีสือมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นบนดินตามไหล่เขาในป่าดิบแล้ง บนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดผีสือ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pteris cretica L. var. cretica
ชื่อสกุล
Pteris
คำระบุชนิด
cretica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. cretica
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด