กูดผี

Pteris mertensioides Willd.

เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าตั้งตรง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น รูปขอบขนาน กลุ่มใบย่อยเกือบอยู่ตรงข้ามกัน มีประมาณ ๑๕ คู่ กลุ่มใบย่อยตอนล่างใกล้โคนมีใบย่อยขนาดใหญ่ รูปใบหอก ปลายแหลม แผ่นใบบาง เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ ๒ ครั้ง กลุ่มอับสปอร์เรียงต่อเนื่องตามขอบใบ เว้นบริเวณปลายใบเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์แคบบาง สีซีด

กูดผีชนิดนี้เหง้าสั้น ตั้งตรง มีรากที่มีขนสีน้ำตาลและมีเกล็ดสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม.

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๖๕ ซม. ยาวประมาณ ๑ ม. แกนกลางและแกนกลุ่มใบย่อยสีน้ำตาลแดงหรือสีออกม่วงแดง มีร่องตามยาวทางด้านบน ก้านใบสีน้ำตาลอมม่วง ยาวประมาณ ๗๐ ซม. กลุ่มใบย่อยเกือบจะอยู่ตรงข้ามกัน มีประมาณ ๑๕ คู่ รูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๔-๘ ซม. ยาวประมาณ ๔๕ ซม.

 กลุ่มใบย่อยตอนล่างใกล้โคนมีใบย่อยขนาดใหญ่ ใบย่อยรูปใบหอก ปลายแหลมหรือค่อนข้างแหลม แผ่นใบบางเส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ ๒ ครั้ง เห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน กลุ่มอับสปอร์เรียงต่อเนื่องตามขอบใบ เว้นบริเวณปลายใบ เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์แคบ บาง และสีซีด

 กูดผีชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกและภาคใต้ ขึ้นริมลำธารหรือตามทางเดินในป่าดิบบริเวณที่ได้รับแสง บนพื้นที่ระดับต่ำถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียตอนใต้ศรีลังกา ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงภูมิภาคโปลินีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดผี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pteris mertensioides Willd.
ชื่อสกุล
Pteris
คำระบุชนิด
mertensioides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1765-1812)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด