กูดงอแง

Lygodium japonicum (Thunb.) Sw.

เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าทอดสั้น ๆ ใต้ดิน ใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้น ปลายใบเจริญยืดยาวไม่จำกัด ก้านใบและแกนกลางเลื้อยพันต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง ใบย่อยคู่ล่างมีแผ่นใบรูปนิ้วมือ ๕-๗ แฉก แฉกกลางใหญ่ที่สุด กลุ่มอับสปอร์ยื่นออกมาจากขอบใบย่อย เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์มีขนที่ขอบ

กูดงอแงเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ทอดขนานใต้ดิน มีเกล็ดสีน้ำตาลหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้น ใบมีความยาวไม่จำกัด ก้านใบและแกนกลางเลื้อยพันต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้เคียงก้านใบสีน้ำตาลอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. หรือมากกว่า ที่โคนมีเกล็ดและขนหนาแน่นตอนบนมีขนประปราย แกนกลางมีลักษณะเหมือนกับก้านใบตอนปลายแยกสาขา ๒ ครั้ง แกนกลางชั้นที่ ๑ ยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. มีขนหนาแน่น แกนกลางชั้นที่ ๒ แผ่เป็นปีกเห็นได้ชัดเจน ด้านบนมีเกล็ดหนาแน่น ด้านล่างมีขนประปราย แยกสาขาจากแกนกลางชั้นที่ ๑ แบบขนนก และแยกสาขาเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น มีโครงร่างรูปสามเหลี่ยมหรือค่อนข้างกลม แต่ละสาขายาวได้ถึง ๒๐ ซม. ใบย่อยคู่ล่างมี


ก้านใบยาวประมาณ ๓ มม. แผ่นใบรูปนิ้วมือ ๕-๗ แฉก แฉกกลางใหญ่ที่สุด ใบย่อยคู่ถัดขึ้นไปมี ๓ แฉก หรือเป็นรูปเงี่ยงใบหอก ขอบจักฟันเลื่อยละเอียด ปลายมนหรือค่อนข้างแหลมเส้นใบอิสระ เห็นได้ชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน และมีขนสีน้ำตาลกลุ่มอับสปอร์ยื่นออกมาจากขอบใบย่อยที่สร้างอับสปอร์กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๐.๓-๑.๒ ซม. เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์มีขนที่ขอบ

 กูดงอแงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นในทุ่งหญ้าหรือตามไหล่เขาในป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดงอแง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lygodium japonicum (Thunb.) Sw.
ชื่อสกุล
Lygodium
คำระบุชนิด
japonicum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
- Swartz, Olof (Peter)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
- Swartz, Olof (Peter) (1760-1818)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด