กูดกวาง

Tectaria impressa (Fée) Holttum

ชื่ออื่น ๆ
กูดเกียว (เพชรบูรณ์); กูดซาง, กูดหก, กูดฮ่มค่า (ลำปาง); โชนป่า (ใต้)
-

เฟิร์นขึ้นบนดินหรือบนก้อนหิน เหง้าทอดไปตามพื้น ใบประกอบแบบขนนกหนึ่งถึงสามชั้น มีใบย่อย ๒-๔ คู่ คู่ล่างสุดใหญ่ที่สุด รูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายแหลม ใบที่สร้างอับสปอร์หยักเว้าหรือเป็นใบประกอบที่ซับซ้อนกว่าใบที่ไม่สร้างอับสปอร์ กลุ่มอับสปอร์รูปกลม เกิดที่ปลายเส้นใบย่อยภายในช่องว่างของเส้นใบ เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บาง

 กูดกวางเป็นเฟิร์น มีเหง้าใต้ดินทอดยาวไปตามพื้นดินหรือตั้งตรง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๘ มม. มีเกล็ดรูปแถบ กว้าง ๒-๘ มม. ยาว ๐.๗-๒ ซม. ขอบเกล็ดมีขนค่อนข้างแข็ง เกล็ดมี ๒ สี ตรงกลางเป็นสีเกือบดำ ขอบสีสนิมเหล็กหรือน้ำตาลอมม่วง

 ใบประกอบแบบขนนกหนึ่งถึงสามชั้น รูปไข่แกมรูปคล้ายสามเหลี่ยมหรือรูปห้าเหลี่ยมใบไม่สร้างอับสปอร์มีก้านใบยาว ๘-๔๐ ซม. ใบสร้างอับสปอร์มีก้านใบยาว ๒๘-๖๐ ซม. ผิวของก้านใบด้านบนมีขนหนาแน่น ด้านล่างเกลี้ยง

 ใบย่อยมี ๒-๔ คู่ คู่ล่างสุดใหญ่ที่สุด แต่ละใบรูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายแหลม เส้นกลางใบย่อยแบ่งแผ่นใบด้านล่างมีขนาดใหญ่กว่าด้านบน และมักหยักเว้าลึกหรือเป็นใบย่อยโดยทั่วไปในใบสร้างอับสปอร์ใบย่อยจะหยักเว้าหรือเป็นใบประกอบที่ซับซ้อนกว่าใบไม่สร้างอับสปอร์ ผิวใบเรียบ ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมม่วง กลุ่มอับสปอร์รูปกลม อยู่ที่ปลายเส้นใบย่อยภายในช่องว่างของเส้นใบ มีเยื่อบาง ๆ ปกคลุม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในระยะที่กลุ่มอับสปอร์ยังไม่เจริญเต็มที่

 กูดกวางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นบนดินหรือบนก้อนหินในป่าเบญจพรรณที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ไต้หวัน อินเดียตอนเหนือ ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดกวาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tectaria impressa (Fée) Holttum
ชื่อสกุล
Tectaria
คำระบุชนิด
impressa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fée, Antoine Laurent Apollinaire
- Holttum, Richard Eric
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Fée, Antoine Laurent Apollinaire (1789-1874)
- Holttum, Richard Eric (1895-1990)
ชื่ออื่น ๆ
กูดเกียว (เพชรบูรณ์); กูดซาง, กูดหก, กูดฮ่มค่า (ลำปาง); โชนป่า (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด