กุ่มน้ำ

Crateva religiosa G.Forst.

ชื่ออื่น ๆ
กุ่ม (เลย)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบนิ้วมือมีสามใบย่อย ใบย่อยรูปรี หรือรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจะถี่ ดอกสีขาวแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เกสรเพศผู้สีแดงหรือม่วง ผลสีเทาอมเหลือง ค่อนข้างกลมยาวหรือรูปไข่

กุ่มน้ำชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม.

 ใบประกอบแบบนิ้วมือมีสามใบย่อย ออกเป็นกลุ่มหนาแน่นตามปลายกิ่ง ก้านใบประกอบยาว ๖.๕-๑๐ ซม. หูใบเล็ก ร่วงง่าย ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๔-๑๐.๕ ซม. ยาว ๘.๕-๑๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบเมื่ออ่อนอยู่ใบบางนุ่ม เมื่อแก่หนา เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๑ เส้น โค้งไปหาขอบใบ แต่ละคู่อยู่ห่าง ๆ กัน ใบย่อยไม่มีก้านหรือถ้ามียาวไม่เกิน ๕ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะถี่ แต่ละช่อมักมีจำนวนมาก ดอกสีขาวแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านดอกยาว ๒-๙ ซม. ใบประดับเล็กมาก กลีบเลี้ยงรูปรีหรือรูปไข่ ปลายมนหรือแหลม กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๗ มม. กลีบดอกรูปไข่กว้างหรือรูปรี ปลายมนหรือแหลม กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาว ๐.๕-๒ ซม. เกสรเพศผู้สีแดงหรือม่วง มี ๑๐-๓๐ อัน ส่วนมากพบ ๑๓-๑๘ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๕-๕ ซม. ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๔-๗ ซม. รังไข่รูปไข่หรือกึ่งทรงกระบอก มี ๑ ช่อง

 ผลสีเทาอมเหลือง ค่อนข้างกลมยาวหรือรูปไข่ กว้าง ๕.๕-๙.๕ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ผิวเมื่อแก่เป็นสะเก็ดหยาบ ๆ มีเมล็ดมาก คล้ายรูปหัวใจเบี้ยว กว้าง ๐.๕-๑.๗ ซม. ยาว ๑-๑.๙ ซม.

 กุ่มน้ำชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าที่มีน้ำท่วมถึง และตามริมฝั่งน้ำ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 เปลือกรากใช้เป็นยาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมาก ๆ เปลือกต้นเป็นยาเจริญอาหาร ยาระบาย ยาขับปัสสาวะแก้ไข้ ขับน้ำเหลืองเสีย และแก้โรคนิ่ว (Suwal, 1970) เปลือกโขลกแช่น้ำกินแก้ท้องผูก ใบลนไฟปิดหูแก้ปวด ต้นและใบต้มกินแก้โรคบิด ปวดท้อง ปวดศีรษะ ดอกกินเป็นยาเจริญอาหาร (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กุ่มน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Crateva religiosa G.Forst.
ชื่อสกุล
Crateva
คำระบุชนิด
religiosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Forster, Johann Georg Adam
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Forster, Johann Georg Adam (1754-1794)
ชื่ออื่น ๆ
กุ่ม (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต