กุหลาบแดง

Rhododendron simsii Planch.

ไม้พุ่ม ลำต้นและกิ่งมีขนสีน้ำตาลแดง ใบเรียงเวียนรูปรี มีขนทั้ง ๒ ด้าน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกตูมสีแดง ดอกบานรูปกรวยปากกว้าง ภายในหลอดมีประสีแดงเข้ม ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่

กุหลาบแดงเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. ผลัดใบในระยะเวลาสั้น ๆ ลำต้นแตกกิ่งเป็นพุ่ม ลำต้นและกิ่งมีขนสีน้ำตาลอมแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนไม่เป็นระเบียบ รูปรี รูปไข่ รูปไข่แกม รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๘-๒.๖ ซม. ยาว ๒-๖ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีจาง มีขนสีขาวหรือน้ำตาลอ่อนเป็นมันทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่งช่อละ ๒-๗ ดอก ตาดอกรูปไข่ ยาว ๓-๔ ซม. ประกอบด้วยกาบรูปสามเหลี่ยม เรียงเวียนสลับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ กาบนอกเล็กกว่ากาบใน ตรงกลางกาบด้านนอกและขอบกาบมีขนสีน้ำตาล ใบประดับเรียว ยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. มีขนสีน้ำตาลอมแดง ดอกตูมสีแดง ยาว ๔-๕ ซม. ดอกบานเต็มที่กว้าง ๔-๕ ซม. กลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงยาว ๓-๕ มม. โคนกลีบติดกันปลายแยกเป็น ๕ แฉก มีขนสีขาวหรือน้ำตาลอมแดง กลีบดอกสีแดง ติดกันคล้ายรูปกรวย ยาว ๒-๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ กลีบ กว้าง ๑.๓-๑.๖ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. มีประสีแดงเข้มเป็นทางตั้งแต่ปากหลอดลงไปถึงโคน เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ยาวไม่เท่ากัน ตั้งแต่ ๒-๕ ซม. ก้านชูอับเรณูสีแดงเรื่อ โคนก้านมีขนสีขาวประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว ๔-๕ มม. มีขนหนาแน่น มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่ ยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. มีขนสีน้ำตาลอมแดง แก่จัดแตกเป็น ๕ เสี่ยง มีเมล็ดจำนวนมากเมล็ดเล็กแบน มีปีกบางใสล้อมรอบ

 กุหลาบแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนภูเขาหินทรายที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ม. ขึ้นเป็นกลุ่มตามที่โล่งริมลำธารในป่าดิบเขา ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ลาว และเวียดนาม ออกดอกระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กุหลาบแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhododendron simsii Planch.
ชื่อสกุล
Rhododendron
คำระบุชนิด
simsii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Planchon, Jules Émile
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1823-1888)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข