กุหลาบขาว

Rhododendron ludwigianum Hosseus

ไม้พุ่มอิงอาศัย ใบเรียงเวียน รูปไข่กลับ ด้านล่างมีเกล็ดสีน้ำตาล ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ดอกตูมสีขาวอมชมพู ดอกบานรูปกรวยปากกว้าง ภายในหลอดมีประสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก

กุหลาบขาวเป็นไม้พุ่มอิงอาศัย สูง ๑.๕-๓ ม. ลำต้นและกิ่งคดงอ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ รูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายแหลมหรือมนเป็นติ่งสั้น โคนแหลม แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีเกล็ดสีน้ำตาล

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งช่อละ ๒-๓ ดอก ดอกตูมสีขาวอมชมพูหรือชมพูอ่อน ดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๑๓ ซม. กลีบดอกรูปกรวยแกมรูประฆัง ยาว ๓.๕-๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ กลีบ ค่อนข้างกลม กว้าง ๓-๔.๕ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. ภายในหลอดดอกมีประสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียวเป็นทางลงไปจนถึงโคน กลีบดอกด้านนอกมีขนสั้นประปราย เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ยาวไล่เลี่ยกัน ประมาณ ๕ ซม. โคนก้านชูอับเรณูมีขนสั้นสีขาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก มีเกล็ดแน่น มี ๕-๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก ยาว ๒-๓ ซม. ผิวแห้งแข็ง เป็นตุ่มขรุขระ มีเกล็ดปกคลุม แก่จัดแตกเป็น ๕-๖ เสียง มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเล็ก แบน มีปีกบางใสล้อมรอบ

 กุหลาบขาวเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบบนภูเขาหินปูนที่ดอยเชียงดาว จ. เชียงใหม่ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๘๐๐-๒,๑๙๐ ม. ขึ้นกระจัดกระจายตามซอกหินปูนที่มีซากอินทรียวัตถุสะสมบนยอดเขาและสันเขาที่โล่งแจ้งจัดเป็นพรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

 นอกจากนี้ มักเรียกพรรณไม้ในสกุล Rhododendron ที่มีดอกสีขาวว่า กุหลาบขาว เช่น R. lyi H.Lév. (ดอกสามสี), R. moulmeinense Hook.f. (คำขาว), R. Surasianum Balf.f. & Craib (นมวัวดอย)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กุหลาบขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhododendron ludwigianum Hosseus
ชื่อสกุล
Rhododendron
คำระบุชนิด
ludwigianum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hosseus, Carl Curt
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1878-1950)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข