กุลเขา

Madhuca smitinandii P.Chantaranothai

ไม้ต้น เกือบทุกส่วนที่ยังอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลแดง ใบเรียงเวียน รูปไข่กลับหรือรูปใบหอก ดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ออกตามง่ามใบ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม

กุลเขาเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๒๐ ม. กิ่งสีน้ำตาลแดง เกือบทุกส่วนที่ยังอ่อนมีขนสั้นหนานุ่มหรือค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มักเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลมมน แหลม หรือมน โคนรูปลิ่ม แผ่เป็นปีกแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขน เส้นกลางใบด้านบนแบนหรือเป็นร่องเล็ก ๆ ด้านล่างนูน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น ปลายโค้ง ก้านใบสีน้ำตาลแดง ยาว ๑.๒-๒ ซม. ด้านบนเป็นร่องยาว ด้านล่างนูนและหนา มีขน หูใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ร่วงง่าย

 ดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกตามง่ามใบ ก้านดอกเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ สีน้ำตาลแดง มีขนยกเว้นโคนกลีบด้านในเกลี้ยง กลีบวงนอกรูปไข่ กว้างประมาณ ๘ มม. ยาว ๕-๖ มม. กลีบวงในรูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๘ มม. ยาว ๕-๖ มม. บางคล้ายเยื่อ ขอบกลีบเป็นชายครุย กลีบดอก ๑๐ กลีบ รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่บริเวณระหว่างเกสรเพศผู้มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง เกสรเพศผู้ ๒๔ อัน ก้านชูอับเรณูเรียวคล้ายเส้นด้าย สีน้ำตาลแดง มีขนแบบขนแกะ อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กลม มี ๑๐ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมีขนสั้นหนานุ่มที่โคน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม.

 กุลเขาเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๒๐๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กุลเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Madhuca smitinandii P.Chantaranothai
ชื่อสกุล
Madhuca
คำระบุชนิด
smitinandii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Chantaranothai, Pranom
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1955- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ประนอม จันทรโณทัย