กุมาริกา

Parameria laevigata (Juss.) Moldenke

ชื่ออื่น ๆ
เครือเขามวก, เครือเขามวกขาว, ตั่งตู้เครือ, ตังติด (จันทบุรี); เครือซูด (สระบุรี, อุบลราชธานี); ช่อมา
ไม้เถา มียางขาว ใบเรียงตรงข้าม รูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลิ่นหอม ฝักยาว คอดระหว่างเมล็ด

กุมาริกาเป็นไม้เถา ลำต้นเลื้อยพันไม้อื่น มีน้ำยางขาวกิ่งอ่อนเรียวเล็ก สีน้ำตาลเข้ม ยอดอ่อนและก้านช่อดอกมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาล แต่จะร่วงไปในเวลาต่อมา

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือเป็นวงรอบ ๓ ใบ รูปรี รูปขอบขนาน จนถึงรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๔.๕-๑๕ ซม. ส่วนกว้างที่สุดของใบอยู่ประมาณกึ่งกลางใบ แล้วเรียวสอบเข้าหาโคนใบและปลายใบ ปลายเรียวแหลม โคนสอบแผ่นใบด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ก้านใบสั้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๓-๑๐ ซม. ดอกเล็ก สีขาว กลิ่นหอมแรง ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เล็กมาก โคนกลีบเชื่อมติดกันเล็กน้อย กลีบดอก ๕ กลีบ ยาวประมาณ ๕ มม. ขอบกลีบซ้อนเหลื่ยมกันเป็นเกลียว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยเกสรเพศผู้ ๕ อัน รังไข่มีขน

 ฝักกว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑๕-๓๕ ซม. หยักคอดระหว่างเมล็ด เมื่อแก่แตกด้านเดียว เมล็ดรูปคล้ายเรือ ยาว ๑-๑.๒ ซม. โคนมีปุยขนยาวคล้ายไหม ช่วยในการลอยลม

 กุมาริกามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นในที่โล่ง ตามป่าดิบ และตามลำห้วย ออกดอกระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเมษายน ผลแก่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย จนถึงฟิลิปปินส์

 เปลือกใช้ปรุงเป็นยารักษาบาดแผลภายใน โดยเฉพาะหญิงหลังการคลอดบุตร โรคทางเดินอาหาร และวัณโรค (Burkill, 1935).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กุมาริกา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Parameria laevigata (Juss.) Moldenke
ชื่อสกุล
Parameria
คำระบุชนิด
laevigata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jussieu, Antoine Laurent de
- Moldenke, Harold Norman
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Jussieu, Antoine Laurent de (1748-1836)
- Moldenke, Harold Norman (1909- )
ชื่ออื่น ๆ
เครือเขามวก, เครือเขามวกขาว, ตั่งตู้เครือ, ตังติด (จันทบุรี); เครือซูด (สระบุรี, อุบลราชธานี); ช่อมา
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม