กำพี้

Dalbergia ovata Graham

ชื่ออื่น ๆ
คร่าหยุม (ลำปาง); ดู่ขาว, ดู่ต้อง, ดู่แดง, ดู่แล้ง (อุดรธานี); ประดู่ตะเลน, ประดู่ใบขาว (กลาง)
ไม้พุ่มรอเลื้อย ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับใบย่อยรูปไข่ถึงรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีเหลืองอ่อน ฝักแบน รูปขอบขนาน

กำพี้เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มักแตกกิ่งทอดพันไม้อื่น สูง ๕-๑๐ ม. กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนนุ่มสั้น ๆ ซึ่งจะร่วงไปในเวลาต่อมา เปลือกสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องและเป็นสะเก็ด

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว ๑๐-๑๘ ซม. มีใบย่อย ๗ ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่ถึงรูป ที่ปลายใบประกอบมีใบย่อยรูปรีถึงรูปไข่กลับ ใบย่อยมีขนาดจากเล็กไปหาใหญ่เริ่มจากตอนล่างขึ้นไป กว้าง ๒.๕-๑๐ ซม. ยาว ๕-๑๘ ซม. ปลายมนหรือสอบเรียวมีติ่งแหลม โคนมนหรือสอบเส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน รูปดอกถั่ว ยาวประมาณ ๗ มม.


ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนประปราย ขนาดแตกต่างกัน กลีบบนสุด ๒ กลีบ มีขนาดใหญ่สุด กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๙ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๓ เม็ด

 ฝักแบน รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. โคนสอบเรียว ปลายเป็นติ่งแหลม เปลือกบางเกลี้ยงและโปร่งแสง มี ๑-๓ เมล็ด สีน้ำตาล รูปไต กว้าง ประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๑ ซม.

 กำพี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามริมห้วยในป่าเบญจพรรณและตามชายป่าดิบ ในต่างประเทศพบที่พม่าและเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำพี้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia ovata Graham
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
ovata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Graham, Robert C.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1786-1845)
ชื่ออื่น ๆ
คร่าหยุม (ลำปาง); ดู่ขาว, ดู่ต้อง, ดู่แดง, ดู่แล้ง (อุดรธานี); ประดู่ตะเลน, ประดู่ใบขาว (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม