กำปองหลวง

Clematis buchananiana DC.

ชื่ออื่น ๆ
คำปองหลวง (เชียงใหม่)
ไม้เถา กิ่ง ใบและช่อดอกมีขนนุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปไข่ หยักเป็น ๓ แฉก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีนวลไม่มีกลีบดอก ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยแบน แบบผลแห้งเมล็ดล่อน ปลายมีหางยาว

กำปองหลวงเป็นไม้เถา ลำต้นเป็นร่องตื้น ๆ กิ่งก้านใบ และช่อดอกมีขนสั้นหนานุ่ม

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้าม ยาว ๑๕-๒๐ ซม. มีใบย่อย ๕ ใบ เรียงตรงข้ามกัน ๒ คู่ ใบย่อยรูปไข่ กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๖-๑๐ ซม. หยักเป็น ๓ แฉกตื้น ๆ ปลายเรียวแหลม โคนมนกว้างถึงมนแกมรูปหัวใจ ขอบหยักซี่ฟันแผ่นใบมีขนสั้นหนานุ่มทั้ง ๒ ด้าน มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น เห็นชัด

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๒๕ ซม. มีดอก ๓-๒๐ ดอก สีนวล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๕-๔ ซม. ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปขอบขนาน ปลายมน กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๒.๖ ซม. ด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่ม ด้านในมีขนประปราย เมื่อดอกบานกลีบจะม้วนออก เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียมีจำนวนมาก



รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีหลายอัน แต่ละอันมีออวุล ๑ เม็ด ทั้งก้านชูอับเรณูและก้านยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวสีขาว

 ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน แบน กว้าง และยาวประมาณ ๔ มม. ปลายยาว มีหางยาว ๓-๔ ซม. ซึ่งเกิดจากก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ ขนยาวช่วยให้ผลลอยลม

 กำปองหลวงมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ขึ้นตามชายป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียและพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำปองหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Clematis buchananiana DC.
ชื่อสกุล
Clematis
คำระบุชนิด
buchananiana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
คำปองหลวง (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม