กำจัดหน่วย

Zanthoxylum nitidum (Roxb.) DC.

ชื่ออื่น ๆ
งูเห่า (อุดรธานี)
ไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมกระจายห่าง ๆ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ก้านใบและแกนกลางมีหนามแหลม ใบย่อย ๒-๔ คู่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ดอกแยกเพศ สีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลแห้งแตก

กำจัดหน่วยเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมกระจายห่าง ๆ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ก้านใบและแกนกลางมีหนามแหลม มีใบย่อย ๒-๔ คู่ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายและโคนแหลมหรือมน ขอบหยักห่าง ๆ บริเวณรอยหยักมักมีต่อมกลมอยู่ใกล้ ๆ ขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๒ เส้น มีหนามเล็ก ๆ ตามเส้นกลางใบด้านล่าง

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือง่ามใบ ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านช่อดอกอาจมีขนละเอียด ดอกเล็ก มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ดอกเพศผู้ยาว ๔-๕ มม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เล็กมาก รูปสามเหลี่ยม โคนกลีบติดกันเล็กน้อย กลีบดอก ๔ กลีบ สีเหลืองอมเขียว รูปรีหรือรูปไข่ ยาว ๒-๓ มม. เกสรเพศผู้ ๔ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๔-๖ มม. ชูอับเรณูโผล่พ้นกลีบดอก อับเรณูเล็กมาก มี ๒ ช่อง รังไข่เล็กมากและไม่สมบูรณ์ ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ ต่างกันที่ขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้และมีรังไข่ใหญ่เห็นได้ชัด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ดก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก มี ๔ พูที่ค่อนข้างอิสระ ติดกันเฉพาะที่โคน พูค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๗ มม. เมื่อแก่แตกตามยาวกลางหู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๕ มม. ผิวเกลี้ยงและเป็นมัน

 กำจัดหน่วยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และญี่ปุ่น

 ในภูมิภาคอินโดจีนใช้ผลปรุงยาจำพวกฝาดสมาน ขับลม ขับพยาธิ เป็นต้น (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำจัดหน่วย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Zanthoxylum nitidum (Roxb.) DC.
ชื่อสกุล
Zanthoxylum
คำระบุชนิด
nitidum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
งูเห่า (อุดรธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์