กาแซะ

Ormosia kerrii Niyomdham

ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่แกมรูปใบหอกถึงรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ยอด ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวนวลถึงเหลืองอ่อน ฝักรูปรีหรือรูปไข่เบี้ยว เป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง

กาแซะชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๓๐-๓๕ ม. เรือนยอดรูป ทรงกระบอกถึงรูปกรวยคว่ำ ยอดอ่อนและช่อดอกมีขนสั้น ๆ อ่อนนุ่ม ลำต้นกลมเปลา เปลือกสีน้ำตาล เรียบหรือขรุขระเล็กน้อย เปลือกในและเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว ๒๐-๒๕ ซม. มีใบย่อย ๗-๑๓ คู่ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมรูปใบหอกถึงรูปขอบขนาน โคนเบี้ยวเล็กน้อย ใบย่อยที่ปลายกว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๑๑.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือสอบ แผ่นใบบาง ด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นใบย่อยเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบย่อยยาว ๓-๘ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ยอด ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวนวลถึงเหลืองอ่อน ยาวประมาณ ๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนนุ่มสั้น ๆ กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน แยกกันเป็นอิสระ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๒ เม็ด

 ฝักมีเปลือกหนาแข็ง เป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน สีน้ำตาลรูปรีถึงรูปไข่เบี้ยว ๆ ปลายเป็นติ่งแหลม โคนมน เมื่อแก่จะแตกออกเป็น ๒ ซีก มี ๑-๒ เมล็ด ค่อนข้างแบน รูปไข่กว้าง ถึงรูปโล่ กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. หรือมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๒ ซม. เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง

 กาแซะชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ เป็นพรรณไม้ที่หายาก ขึ้นกระจัดกระจายในป่าดิบชื้นพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระนอง ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาแซะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ormosia kerrii Niyomdham
ชื่อสกุล
Ormosia
คำระบุชนิด
kerrii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Niyomdham, Chawalit
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1949- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม