กาเสดโคก

Neptunia javanica Miq.

ชื่ออื่น ๆ
แห้วระบาด (ประจวบคีรีขันธ์)
ไม้ล้มลุก ทอดไปตามพื้นดิน ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แต่ละแขนงมีใบย่อย ๖-๕ คู่ มีต่อมเล็ก ๆ ๑ ต่อมอยู่เหนือโคนก้านใบประกอบเล็กน้อย ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลม ดอกสีเหลือง ฝักรูปขอบขนาน

กาเสดโคกเป็นไม้ล้มลุก ทอดไปตามพื้นดิน ยาวได้ถึง ๑ ม.

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แกนกลางยาว ไล่เลี่ยกับก้านหรือยาวกว่าเล็กน้อย มักเป็นเหลี่ยมและมีขน


ประปราย ก้านใบประกอบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีต่อมเล็ก ๆ ๑ ต่อม อยู่เหนือโคนก้านเล็กน้อย หูใบเล็ก รูปไข่ปลายเรียวแหลม ใบประกอบแยกแขนง ๑-๓ คู่ ยาว ๑-๓ ซม. แต่ละแขนงมีใบย่อย ๖-๑๕ คู่ รูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๗ มม. โคนเบี้ยวเล็กน้อย ปลายมนหรือแหลมและมีสิ่งเล็ก ๆ ขอบเรียบและมีขนประปราย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลม สีเหลือง ออกตามง่ามใบเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๕ ซม. ช่อหนึ่งมี ๑๐-๑๕ ดอก ดอกเล็กมาก ไม่มีก้านดอก ดอกที่อยู่ตอนบนของช่อเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ขนาดใหญ่กว่าดอกไม่สมบูรณ์เพศที่อยู่ตอนล่าง ดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบเลี้ยงเล็กโคนติดกันเป็นรูประฆัง ปลายหยักเล็กแหลม ๕ หยัก กลีบดอก ๕ กลีบ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว ๓-๔ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๔-๕ มม. อับเรณูเล็ก รังไข่เล็กอยู่เหนือวงกลีบ ยาว ๒-๓ มม. ดอกไม่สมบูรณ์เพศมีก้านชูอับเรณูยาว ๕-๘ มม. ไม่มีอับเรณูและเกสรเพศเมีย

 ฝักรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๙ มม. ยาว ๒.๕-๕ ซม. แบนและโค้งเล็กน้อย โคนและปลายฝักเรียวแหลม มี ๗-๑๑ เมล็ด เมล็ดเล็ก แบน รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๔ มม.

 กาเสดโคกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามที่โล่งขึ้นบนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาเสดโคก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Neptunia javanica Miq.
ชื่อสกุล
Neptunia
คำระบุชนิด
javanica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
แห้วระบาด (ประจวบคีรีขันธ์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์