กาหลงเขา

Bauhinia viridescens Desv. var. hirsuta K. & S.S.Larsen

ไม้พุ่ม ยอดและกิ่งอ่อนมีขนนุ่มหนาแน่น ใบเรียงสลับ ปลายเว้าลึกประมาณ ๑ ใน ๓ ของแผ่นใบ โคนรูปหัวใจ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตรงข้ามใบที่อยู่ปลายกิ่ง มีทั้ง ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกสมบูรณ์เพศ ดอกสีขาวอมเขียว หรือเหลืองอมเขียว ผลแบบผลแห้งแตก

 กาหลงเขาเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๔ ม. ยอดและกิ่งอ่อนมีขนนุ่มหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้าง ๕-๗ ซม. ยาว ๔-๗ ซม. ปลายหยักมนเว้าลงมาสู่เส้นกลางใบประมาณ ๑ ใน ๓ ของความยาวแผ่นใบ โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นโคนใบ ๗-๑๑ เส้น ปลายเส้นกลางใบมีสิ่งเล็กแหลม ก้านใบยาว ๑.๕-๒ ซม. มีขน หูใบรูปสามเหลี่ยมเรียวยาว ๒-๓ มม. มีรยางค์เล็ก ๆ อยู่ระหว่างหูใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตรงข้ามใบที่อยู่ตอนปลายกิ่งยาว ๔-๑๕ ซม. มีขนหนาแน่น ก้านดอกยาว ๑-๓ มม. โคนก้านช่อและก้านดอกมีใบประดับรูปสามเหลี่ยมแหลมคล้ายหูใบ ดอกตูมคล้ายรูปรี ยาว ๐.๕-๑ ซม. มีทั้งดอกเพศผู้ดอกเพศเมีย และดอกสมบูรณ์เพศ สีขาวอมเขียวหรือเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันคล้ายกาบ กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กลับหรือรูปเรียว ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม.


เกสรเพศผู้ ๙-๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูมักไม่เท่ากัน โคนก้านชูอับเรณูมีขน อับเรณูเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนานมี ๑ ช่อง มีออวุล ๖-๑๐ เม็ด ก้านชูเกสรเพศเมียและก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลมแบน

 ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักแบน กว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๕-๙ ซม. มี ๖-๑๐ เมล็ด เมล็ดเล็ก รูปรี แบน

 กาหลงเขาเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะแถบเขาหินปูน จ. กาญจนบุรี บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๗๐๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาหลงเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia viridescens Desv. var. hirsuta K. & S.S.Larsen
ชื่อสกุล
Bauhinia
คำระบุชนิด
viridescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Desvaux, Nicaise Auguste
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. hirsuta
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- K. & S.S.Larsen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1784-1856)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์