กาหลง

Bauhinia acuminata L.

ชื่ออื่น ๆ
เสี้ยวน้อย (เชียงใหม่)
ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนมีขนทั่วไป ใบเรียงสลับ ปลายหยักเว้าลึกเกือบครึ่งแผ่นใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตรงข้ามกับใบที่อยู่ปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปขอบขนาน ปลายและโคนฝักสอบแหลม ปลายฝักมีติ่งแหลม

กาหลงเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. กิ่งอ่อนมีขนทั่วไป กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้าง ๙-๑๓ ซม. ยาว ๑๐-๑๔ ซม. ปลายเว้าลงมาสู่เส้นกลางใบลึกเกือบครึ่งแผ่นใบ ทำให้ปลายทั้ง ๒ ข้างแหลม โคนรูปหัวใจขอบเรียบ เส้นโคนใบ ๙-๑๐ เส้น ปลายเส้นกลางใบมีติ่งเล็กแหลม แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนเล็กละเอียด ก้านใบยาว ๓-๔ ซม. มีขน หูใบเรียวแหลม ยาวประมาณ ๑ ซม. ร่วงง่าย มีรยางค์เล็ก ๆ อยู่ระหว่างหูใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตรงข้ามกับใบที่อยู่ตอนปลายกิ่ง มี ๓-๑๐ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็ก ๒-๓ ใบ รูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม ดอกตูมรูปกระสวย ยาว ๒.๕-๔ ซม. ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันคล้ายกาบ กว้าง ๑-๑.๘ ซม. ยาว ๒.๕-๔ ซม. ปลายเรียวแหลมและแยกเป็นพู่สั้น ๆ ๕ เส้น กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวรูปรีหรือรูปไข่กลับ มักมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายมน โคนสอบ กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูแต่ละอันยาวไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ ๑.๕-๒.๕ ซม. อับเรณูสีเหลือง รูปขอบขนาน ยาว ๓-๕ มม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๖-๘ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลม

 ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักแบน คล้ายรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๙-๑๕ ซม. ปลายและโคนฝักสอบแหลม


ปลายฝักมีติ่งแหลม ยาวประมาณ ๘ มม. ขอบฝักเป็นสันหนา มี ๕-๑๐ เมล็ด ขนาดเล็ก คล้ายรูปขอบขนาน

 กาหลงพบในประเทศไทยทั่วทุกภาค ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกใช้เป็นยาแผนโบราณ แก้ปวดศีรษะ ลดความดันโลหิต แก้เลือดออกตามไรฟันและแก้เสมหะพิการ (เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ๒๕๑๙) ในอินโดนีเซียใช้รากแก้ไอ (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาหลง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia acuminata L.
ชื่อสกุล
Bauhinia
คำระบุชนิด
acuminata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
เสี้ยวน้อย (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์