กาสัก

Leea macrophylla Roxb. ex Hornem.

ชื่ออื่น ๆ
เขืองหูช้าง, เขืองหูม้า, ตองต้วบ, ตองสาก (เหนือ); ตาลปัตรฤาษี, ผึ่งหูช้าง, เสือนั่งร่ม (ราชบุรี); พญ
ไม้พุ่มมีเหง้าอวบ มีขนละเอียดสั้นสีขาวทั่วไป ใบมีทั้งใบเดี่ยวและใบประกอบ เรียงสลับ แผ่นใบเป็น ๓ แฉกใหญ่ มีหูใบรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ขอบด้านข้างประกบติดกันและมีช่องเปิดด้านบน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายยอด ดอกเล็กจำนวนมาก สีขาวอมเขียวหรือเขียวอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปกลมแบน

กาสักเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. มีเหง้าอวบ มีขนละเอียดสั้นสีขาวอยู่ทั่วไป กิ่งไม่แตกแขนง เจริญจากส่วนยอด

 ใบเดี่ยว หรืออาจเป็นใบประกอบ เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๕๐-๙๐ ซม. ยาว ๐.๕-๑ ม. ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อย และมักเป็นหยักซี่ฟันซ้อนหรือจักฟันเลื่อยซ้อน บางใบขอบใบตอนใกล้โคนใบเว้าลึกมาก แผ่นใบเป็น ๓ แฉกใหญ่ ด้านบนสีเขียวเข้มกว่าและมีขนน้อยกว่าด้านล่าง มีต่อมเป็นขีดสั้น ๆ แขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น คู่แรกออกที่โคนเส้นกลางใบก้านใบยาว ๑๐-๒๕ ซม. โคนก้านใบที่ปลายกิ่งมีหูใบใหญ่ค่อนข้างแบน ๑ คู่ หุ้มยอดอ่อนไว้ หูใบรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๒-๖ ซม. ขอบด้านข้างประกบติดกันและมีช่องเปิดด้านบน เมื่อแก่จัดหูใบจะหลุดเป็นห่วงคล้องรอบโคนกิ่ง รอยแผลหูใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๕-๑๐ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายยอดเป็นช่อใหญ่ ยาว ๔๐-๕๐ ซม. ดอกเล็ก มีจำนวนมาก สีขาวอมเขียวหรือเขียวอ่อน โคนช่อดอกและช่อดอกย่อยมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม เล็กมาก ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายถ้วยยาว ๒-๔ มม. ขอบหยักรูปสามเหลี่ยมปลายมน ๕ หยัก มีขน กลีบดอกสีขาวอมเขียว โคนติดกันเป็นหลอดยาว ๑-๓ มม. ปลายแยก ๕ แฉก รูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๔ มม. ปลายแฉกแหลม เกสรเพศผู้ ๕ อัน สีขาวตอนล่างติดกันเป็นหลอดยาว ๑-๒ มม. ปลายหลอดหยักเว้ารูปสามเหลี่ยม ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๒ มม. เรียงสลับกับหยักปากหลอดเกสรเพศผู้ ปลายก้านชูอับเรณูโค้งพับอับเรณูเข้าในหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เล็กมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างแบน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลมแบน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑.๒ ซม. มี ๓-๖ เมล็ด ค่อนข้างกลม ขนาด ๓-๔ มม.

 กาสักมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง พบตามป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน

 ปลูกเป็นไม้ประดับ พม่าใช้รากเป็นยาฝาดสมาน (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาสัก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Leea macrophylla Roxb. ex Hornem.
ชื่อสกุล
Leea
คำระบุชนิด
macrophylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Hornemann, Jens Wilken
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Hornemann, Jens Wilken (1770-1841)
ชื่ออื่น ๆ
เขืองหูช้าง, เขืองหูม้า, ตองต้วบ, ตองสาก (เหนือ); ตาลปัตรฤาษี, ผึ่งหูช้าง, เสือนั่งร่ม (ราชบุรี); พญ
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์