กาลน

Elaeocarpus floribundus Blume

ชื่ออื่น ๆ
กุนเถื่อน (นครศรีธรรมราช); ค่อม (ราชบุรี); ดีงู (พังงา); ทวย, ทุย, แหร (ตรัง); เบียดใหญ่, หมากดูกหิน
ไม้ต้น กิ่งอ่อน ใบ ช่อดอก และกลีบดอกมีขนประปรายใบเรียงเวียน รูปขอบขนาน ขอบจักห่าง ๆ ใบแก่จัดสีอิฐ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเหนือรอยแผลใบ ดอกสีขาว ปลายกลีบจักเป็นครุย ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปไข่แกมรี

กาลนเป็นไม้ต้น สูง ๑๒-๒๕ ม. กิ่งอ่อนมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่ กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนเบี้ยว แหลมหรือมน ขอบจักห่าง ๆ แผ่นใบมีต่อมกระจัดกระจายทั่วไป มีขนประปรายตามเส้นกลางใบทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. มีขนเล็กน้อยหรือเกลี้ยง หูใบร่วงง่าย ใบที่ร่วงหล่นเป็นสีอิฐ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกแต่ละช่อจึงเรียงเวียนรอบอยู่ใกล้กันใต้กลุ่มใบ ยาว ๘-๒๐ ซม. มีขนเล็กน้อย ดอกสีขาว ก้านดอกยาว ๔-๘ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก ยาวประมาณ ๔ มม. ด้านนอกมีขนประปรายด้านในมีขนเฉพาะตามแนวเส้นกลางกลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายกลีบจักเป็นครุยลึกลงมาประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบดอก ขอบกลีบตอนล่างเรียงมีขนประปราย เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เป็นกระจุก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนเล็กน้อย มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ล้อมรอบด้วยจานฐานดอก โคนก้านยอดเกสรเพศเมียมีขน

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปไข่แกมรี กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. ผิวแข็ง มีจุดสีเหลืองกระจัดกระจายมีเมล็ดใหญ่แข็ง รูปรี ๑ เมล็ด ก้านผลยาวประมาณ ๑ ซม.

 กาลนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นใกล้น้ำตามป่าเบญจพรรณชื้น ชายป่าดิบบนที่ราบต่ำ และขึ้นห่าง ๆ ตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาลน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Elaeocarpus floribundus Blume
ชื่อสกุล
Elaeocarpus
คำระบุชนิด
floribundus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
กุนเถื่อน (นครศรีธรรมราช); ค่อม (ราชบุรี); ดีงู (พังงา); ทวย, ทุย, แหร (ตรัง); เบียดใหญ่, หมากดูกหิน
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข