การะเกดหนู

Pandanus pygmaeus Thouars

ไม้พุ่ม มีรากค้ำ ใบเรียงเวียนกันแน่น รูปขอบขนานแคบตามขอบใบและเส้นกลางใบทางด้านล่างมีหนามเล็ก ๆ หนาแน่น ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อตามปลายยอด ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้ตั้งตรง มีกาบสีนวลหุ้มกลิ่นหอม ช่อดอกเพศเมียตั้งตรง มีกาบรูปเรือ ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปรี

การะเกดหนูเป็นไม้พุ่ม สูง ๓๐-๖๐ ซม. แตกเป็นกอมีรอยแผลใบและมีรากค้ำ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนกันแน่น รูปขอบขนานแคบ กว้าง ๐.๖-๑.๓ ซม. ยาว ๓๐-๕๐ ซม. ค่อย ๆ เรียวแหลมไปหาปลายใบ โคนแผ่ออกเป็นกาบ ตามขอบใบและเส้นกลางใบทางด้านล่างมีหนามเล็ก ๆ หนาแน่น บางครั้งพบมีหนามด้านบนใกล้ ๆ ปลายใบ

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อตามปลายยอด ดอกเล็กมีจำนวนมากติดบนแกนช่อ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้ตั้งตรง ยาว ๓-๕ ซม. มีกาบสีนวลหุ้ม กลิ่นหอมมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก อับเรณูตั้งตรง ติดกับก้านชูอับเรณูที่โคน ช่อดอกเพศเมียตั้งตรง มีดอก ๔-๖ ดอก กาบรูปเรือขอบจักฟันเลื่อยละเอียด ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ พู

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปรี ขนาดประมาณ ๑.๕ ซม. ผลที่อยู่ชิดติดกันแต่ละผลรูปไข่กลับ สอบแคบ ภายในมีโพรงอากาศขนาดใหญ่ เมล็ดเล็ก

 การะเกดหนูเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศมาดากัสการ์ นำไปปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป พันธุ์ที่นำมาปลูกในประเทศไทยนั้น เป็นพันธุ์ต่าง พื้นใบเขียวขอบเหลือง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
การะเกดหนู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus pygmaeus Thouars
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
pygmaeus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thouars, Louis Marie Aubert du Petit
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1758-1831)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต