การบูร

Cinnamomum camphora (L.) J.Presl

ชื่ออื่น ๆ
อบเชยญวน (กลาง), พรมเส็ง (เหนือ)
ไม้ต้น ทุกส่วนมีกลิ่นหอมของการบูร ใบเรียงสลับ รูปไข่กว้างหรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบดอกสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลมผลสุกสีดำ

การบูรเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๑๕ ม. อาจสูงได้ถึง ๓๐ ม. ลำต้นและกิ่งเรียบ ทุกส่วนมีกลิ่นหอมของการบูร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รากและโคนต้นจะมีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่น ๆ ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมหุ้มอยู่ เกล็ดชั้นนอกเล็กกว่าเกล็ดชั้นในตามลำดับ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ รูปไข่กว้าง หรือรูปรี กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างเหนียว ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีนวลเส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น คู่ล่างเห็นชัดกว่าคู่บน ๆ และออกใกล้โคนใบ มีต่อม ๒ ต่อมที่ง่ามใบคู่ล่าง ก้านใบยาว ๑.๕-๒.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาวประมาณ ๗ ซม. ใบประดับเรียวยาว ร่วงง่าย มีขนอ่อนนุ่ม ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน ก้านดอกสั้นมาก กลีบรวม ๖ กลีบ รูปรี ปลายมน ยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ด้านในมีขนนุ่ม เกสรเพศผู้ ๙ อัน เรียงเป็น ๓ วง วงนอกและวงกลางแยกกัน มีขนนุ่มประปราย วงในมีขนและมีต่อมไม่มีก้านรูปหัวใจ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม.

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑.๒ ซม. สีเขียวเข้ม ผลสุกสีดำ มี ๑ เมล็ด

 การบูรเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของจีน ญี่ปุ่น และไต้หวันต่อมาได้นำไปปลูกในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อียิปต์ แอฟริกาใต้ บราซิล จาเมกา สหรัฐอเมริกา อินเดีย ไทย และอินโดนีเซีย

 เมื่อนำส่วนต่าง ๆ ของการบูรมากลั่นจะได้น้ำมันระเหยง่าย ซึ่งประกอบด้วยสารต่าง ๆ เช่น camphor, safrol, cineole, pinene, camphene, phellandrene และ limonene สําหรับ camphor จะเป็นผลึกแยกออกมาเรียกว่า การบูร ใช้เป็นยาระงับเชื้ออย่างอ่อน ยากระตุ้นหัวใจ ขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ปวด ทำยาทาถูนวดแก้ปวดตามข้อ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
การบูร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cinnamomum camphora (L.) J.Presl
ชื่อสกุล
Cinnamomum
คำระบุชนิด
camphora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Presl, Jan Svatopluk (Swatopluk)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Presl, Jan Svatopluk (Swatopluk) (1791-1849)
ชื่ออื่น ๆ
อบเชยญวน (กลาง), พรมเส็ง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย