กายอม

Rhododendron veitchianum Hook.

ไม้พุ่มอิงอาศัย ใบเรียงเวียนเป็นกลุ่ม รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ด้านล่างมีเกล็ดห่าง ๆ ช่อดอกแบบช่อกระจะออกตามปลายกิ่ง ดอกตูมสีขาวอมเขียว ดอกบานรูปกรวยปากกว้าง สีขาว ภายในหลอดมีประสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียวผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวย

กายอมเป็นไม้พุ่มอิงอาศัย สูง ๒-๓ ม. กิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่งกลุ่มละ ๓-๗ ใบ รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔.๒ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมยาวหรือโค้งมนเป็นติ่งสั้น โคนสอบหรือมน แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่าและมีเกล็ดสีน้ำตาลทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑.๕-๑.๘ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งช่อละ ๒-๘ ดอก ดอกตูมสีขาวอมเขียว ดอกบานสีขาว บานเต็มที่กว้าง ๗-๙ ซม. กลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว ๑-๑.๒ ซม. ใบประดับย่อยปลายแหลม โคนมีขน กลีบเลี้ยงโคนติดกันเล็กน้อย ยาว ๗-๘ มม. ด้านนอกมีเกล็ด และมักมีขนบริเวณขอบกลีบ กลีบดอกติดกันคล้ายรูปกรวยแกมรูประฆัง ยาว ๒.๕-๔ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ กลีบ กว้าง ๔-๔.๓ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ภายในหลอดมีประสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียวเป็นทางจากปากหลอดถึงโคน ด้านนอกมีเกล็ด ขอบเป็นคลื่น โคนกลีบดอกทั้งด้านนอกและด้านในมีขนสั้นสีขาวประปราย เกสรเพศผู้ ๑๐-๑๕ อัน ยาวไม่เท่ากัน โคนก้านชูอับเรณูมีขนสั้นสีขาว อับเรณูยาว ๔-๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มีเกล็ดหนาแน่น มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวเท่ากับกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลมจักเป็นพู

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวย กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ผิวแห้งแข็ง มีตุ่มเล็ก ๆ ขรุขระและมีเกล็ดทั่วไปผลแก่แตกเป็น ๕ เสียง มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเล็ก มีปีกบางใสล้อมรอบ

 กายอมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นบนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๔๐๐-๒,๕๖๕ ม. ในป่าดิบเขาตามคบไม้ใหญ่ตามซอกหินที่มีซากอินทรียวัตถุสะสม หรือตามพื้นดินที่เป็น แอ่งชุ่มแฉะมีข้าวตอกฤาษี (Sphagnum mosses) ขึ้นทับถมออกดอกระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่พม่าและลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กายอม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhododendron veitchianum Hook.
ชื่อสกุล
Rhododendron
คำระบุชนิด
veitchianum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, William Jackson
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1785-1865)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข และ ดร.ก่องกานดา ชยามฤต