กาฝากตีนปู

Viscum articulatum Burm.f.

ชื่ออื่น ๆ
กาฝากต้นเปา (เชียงใหม่), กาฝากเถาหาผัวชก (ชุมพร), นางหัก (สุราษฎร์ธานี), หางสิงห์ (ตราด)
กาฝากเกาะตามกิ่งไม้ ห้อยลง ลำต้นเป็นปล้อง แบนหรือเป็นเหลี่ยม ดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ออกเป็นช่อกระจุกน้อยตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง มี ๑-๓ ดอก ผลคล้ายแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม สีขาว มีเมล็ดเดียว

กาฝากตีนปูเป็นพืชเบียน เกาะตามกิ่งไม้ ห้อยลงลำต้นแตกกิ่งมาก เรียวเล็ก เป็นปล้อง เมื่อปล้องโตเต็มที่มีรูปร่างหลายแบบ เช่น แบนสลับตั้งฉาก หรือเป็นเหลี่ยม แต่ละด้านมีขอบนูน ปล้องยาว ๑.๕-๕ ซม. โคนกว้าง ๐.๕-๓ มม. ปลายกว้าง ๑-๕ มม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ลดรูปคล้ายใบประดับเหลือยาวประมาณ ๑ มม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ออกเป็นช่อกระจุกน้อยตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง มี ๓ ดอก หรือเหลือเพียงดอกเพศเมีย ๑ ดอก โคนช่อดอกมีใบประดับ ๒ ใบ ลักษณะคล้ายถ้วย ยาวประมาณ ๑ มม. และมีช่อกระจุกน้อยเกิดขึ้นข้าง ๆ ช่อเดิม อาจเป็นดอกเพศเมียหรือดอกเพศผู้ที่ได้ ดอกเพศผู้แบนยาว ๑-๒ มม. กลีบรวม ๔ กลีบ รูปสามเหลี่ยม เกสรเพศผู้ ๔ อัน


อับเรณูรูปจาน ไม่มีก้าน ติดกับกลีบรวม มีหลายช่อง เมื่อแก่แตกเป็นรู ดอกเพศเมียรูปทรงกระบอก ยาวไม่เกิน ๒ มม. กลีบรวม ๔ กลีบ รูปสามเหลี่ยม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลคล้ายแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม ไม่มีก้าน ผิวหนา สีขาว มีเมล็ดเดียว

 กาฝากตีนปูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค เกาะตามต้นไม้ในป่า ในต่างประเทศพบที่จีน ไต้หวัน อินเดีย เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย

 ทั้งต้นใช้เป็นยาระงับประสาท และต้มกินแก้หลอดลมอักเสบ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาฝากตีนปู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Viscum articulatum Burm.f.
ชื่อสกุล
Viscum
คำระบุชนิด
articulatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Nicolaas Laurens (Nicolaus Laurent)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1734-1793)
ชื่ออื่น ๆ
กาฝากต้นเปา (เชียงใหม่), กาฝากเถาหาผัวชก (ชุมพร), นางหัก (สุราษฎร์ธานี), หางสิงห์ (ตราด)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์