กาตาฉ่อ

Kingidium deliciosum (Rchb.f.) Sweet

กล้วยไม้อิงอาศัย ต้นสั้น ใบเรียงซ้อนสลับระนาบเดียวมีเพียง ๒-๓ ใบ รูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ดอกสีขาวโคนกลีบสีชมพู ฝักรูปรี แบบผลแห้งแตก

กาตาฉ่อเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นสั้น ใบเดี่ยว มี ๒-๓ ใบ เรียงสลับชิดกัน รูปไข่ กว้าง ๓.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๘-๑๓ ซม. ปลายและโคนแหลม ขอบเป็นคลื่นเห็นได้ชัดแผ่นใบหนาเป็นมัน

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ แกนกลางยาว ๖-๑๒ ซม. ก้านช่อดอกส่วนที่มีดอกอวบหนา บางครั้งแตกแขนง เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๑.๕ ซม. ขณะบานหันไปรอบทิศทางและบานครั้งละ ๒-๓ ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาว โคนกลีบมีประสีชมพู กลีบเลี้ยงกลีบบนเล็ก ส่วนอีก ๒ กลีบข้าง ทั้งคู่ใหญ่กว่าและโค้งลง ขอบกลีบเลี้ยงด้านล่างพับลู่ไปด้านหลังเล็กน้อย กลีบดอก ๒ กลีบ ขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยงกลีบบนเล็กน้อย กลีบปากยาวกว่ากลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีถุงเล็ก ๆ ที่โคน หูกลีบปากใหญ่ แผ่ออกเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายมนสีม่วง และมีเส้นสีขาวอยู่ข้างละ ๔ เส้น ด้านข้างที่บรรจบกันโป่งพองคล้ายเป็นต่อมสีเหลืองและอยู่ชิดกัน ปลายต่อมสีเหลืองยื่นออกเป็นเขี้ยวสีขาวโค้งเข้าหากัน ปากส่วนกลางที่


ติดอยู่กับฐานแคบและค่อย ๆ แผ่ออกเป็นแผ่นรูปรี ปลายกลีบปากเว้าลึก บนแผ่นปากมีรยางค์ ๑ ชิ้น ติดอยู่ตอนล่าง ปลายรยางค์แยกเป็น ๒ แฉก ครึ่งในของกลีบปากส่วนกลางสีม่วงและมีสันสีขาวทอดยาวตลอด ส่วนปลายสีขาว เส้าเกสรสีชมพู ยาวประมาณ ๔ มม. ฝาอับเรณูสีขาว กลุ่มเรณูสีนวล มี ๒ กลุ่ม ติดอยู่บนก้านและร่วงง่าย ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งเหนือแอ่งมีจะงอย ๒ แฉก บังแอ่งไว้ส่วนหนึ่ง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ฝักรูปรี แบบผลแห้งแตก

 กาตาฉ่อมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามป่าโปร่งทั่วไป ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กาตาจ่อ เป็นชื่อที่ชาวกะเหรี่ยง จันทบุรีเรียก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาตาฉ่อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Kingidium deliciosum (Rchb.f.) Sweet
ชื่อสกุล
Kingidium
คำระบุชนิด
deliciosum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Reichenbach, Heinrich Gustav
- Sweet, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Reichenbach, Heinrich Gustav (1824-1889)
- Sweet, Robert (1783-1835)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์