กากหมาก

Balanophora latisepala (Tiegh.) Lecomte

พืชเบียนล้มลุก ส่วนที่เชื่อมติดกับรากของพืชให้อาศัยเป็นก้อนปุ่มปมลักษณะไม่แน่นอน ใบสีเหลือง ไม่สังเคราะห์แสงลดรูปจนมีลักษณะเป็นกาบหุ้มลำต้นและโคนช่อดอก ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อเชิงลดตามปลายยอด ต้นหนึ่งมีเพียงช่อเดียว ช่อดอกเพศผู้ยาวคล้ายกระบอง ช่อดอกเพศเมียรูปไข่ยาว

 กากหมากเป็นพืชเบียนล้มลุก อาศัยเกาะกินน้ำเลี้ยงจากพืชอื่น ลำต้นมีขนาดไม่แน่นอน ความยาวรวมส่วนที่เชื่อมติดกับพืชให้อาศัยและช่อดอก ๑๐-๒๕ ซม. ส่วนที่เชื่อมติดกับรากของพืชให้อาศัยเป็นก้อนปุ่มปมลักษณะไม่แน่นอนประกอบด้วยก้อนขนาดเล็กหลายก้อนติดกัน แต่ละก้อนกลมรีผิวเป็นสะเก็ดหยาบ ๆ รูปดาว

 ใบไม่มีสีเขียว แต่มักมีสีเหลืองอ่อนถึงสีเหลืองเนื่องจากเป็นพืชเบียนที่ไม่สังเคราะห์แสง ลดรูปจนมีลักษณะเป็นกาบหุ้มลำต้นและโคนช่อดอก มีจำนวน ๔-๖ ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก กว้างและยาวไม่แน่นอน เท่าที่พบกว้างมากที่สุด ประมาณ ๓.๕ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อเชิงลดตามปลายยอดต้นหนึ่งมีเพียงช่อเดียวแต่มีดอกจำนวนมาก ช่อดอกเพศผู้ยาวคล้ายกระบอง มีดอกเพศผู้ติดอยู่เป็นระยะ ๆ ดอกเบี้ยว กลีบดอก ๔-๖ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. ช่อดอกเพศเมียรูปไข่ยาว ๆ มีดอกเพศเมียขนาดเล็กประมาณเท่าปลายดินสอดำเรียงอัดกันแน่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลเล็กมาก

 กากหมากมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นบนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๖๐๐ ม. เกาะเบียนพืชหลายชนิด เช่น พืชในวงศ์ Leguminosae พืชในวงศ์ Vitaceae (Vitidaceae) และพืชในสกุล Ficus ออกดอกระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม ออกดอกนอกฤดูกาลบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย เกาะสุมาตรา จนถึงเกาะบอร์เนียว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กากหมาก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Balanophora latisepala (Tiegh.) Lecomte
ชื่อสกุล
Balanophora
คำระบุชนิด
latisepala
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Tieghem, Phillippe Édouard Léon van
- Lecomte, Paul Henri
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Tieghem, Phillippe Édouard Léon van (1839-1914)
- Lecomte, Paul Henri (1856-1934)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม