กัลปพฤกษ์

Cassia bakeriana Craib

ชื่ออื่น ๆ
กานล์ (เขมร-ตะวันออก), ชัยพฤกษ์ (เหนือ)
ไม้ต้น ผลัดใบ กิ่งอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก กลีบเลี้ยง รังไข่ และฝัก มีขนนุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามกิ่งพร้อมใบอ่อน ดอกสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว ฝักรูปทรงกระบอก สีเทา

กัลปพฤกษ์เป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๕-๑๕ ม. เรือนยอดแผ่กว้าง เปลือกสีเทา กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนสั้นอ่อนนุ่มสีเทาหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน แกนกลางยาว ๑๕-๔๐ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๒-๔ ซม. มีใบย่อย ๕-๘ คู่ เรียงจากเล็กไปหาใหญ่ รูปไข่แกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๖-๙ ซม. ปลายมนถึงแหลม โคนเบี้ยว เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามกิ่งพร้อมใบอ่อน ยาว ๕-๑๐ ซม. ดอกสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวในเวลาต่อมา ก้านดอกยาว ๔-๖ ซม. ใบประดับรูปใบหอก กว้างประมาณ ๗ มม. ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๙-๑.๒ ซม. มีขนนุ่ม กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๔-๕.๕ ซม. ปลายมน โคนเรียวแคบ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ยาวไม่เท่ากัน แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๓ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๓.๕-๕ ซม. กลุ่มที่ ๒ มี ๔ อัน ก้าน ชูอับเรณูยาวประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มแรก กลุ่มที่ ๓ มี ๓ อัน อับเรณูเล็กมาก ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๑.๕ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เรียวโค้ง มีขนนุ่ม มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ฝักรูปทรงกระบอก กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๓๐-๔๐ ซม. มีขนนุ่มสีเทาหนาแน่น ฝักหนึ่งมี ๓๐-๔๐ เมล็ด ค่อนข้างกลม สีน้ำตาลเป็นมัน รูปไข่ รูปรี ถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๐.๘-๑.๑ ซม.

 กัลปพฤกษ์มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ขึ้นในป่าโปร่งและเขาหินปูนที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐๐-๑,๐๐๐ ม. นำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ในต่างประเทศพบที่พม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กัลปพฤกษ์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cassia bakeriana Craib
ชื่อสกุล
Cassia
คำระบุชนิด
bakeriana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
กานล์ (เขมร-ตะวันออก), ชัยพฤกษ์ (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม