กันเกรา

Fagraea fragrans Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
ตำเสา, ทำเสา (ใต้); ตาเตรา (เขมร-ตะวันออก); ตะมะซู, ตำมูซู (มลายู-ใต้); มันปลา (เหนือ, ตะวันออกเฉียง
ไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก มีหูใบคล้ายรูปถ้วย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกรูปดอกเข็ม สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองกลิ่นหอม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม ผลสุกสีแดง

กันเกราเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๓๐ ม. ลำต้นแตกกิ่งต่ำปลายกิ่งลู่ลงสู่พื้นดิน เรือนยอดแน่นเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกนอกหยาบ หนา สีน้ำตาลเข้มหรือสีเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกตามยาวไม่เป็นระเบียบ เปลือกในสีน้ำตาล กระพี้สีเหลือง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายแหลมยาว โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๘ ซม. มีหูใบระหว่างก้านใบคล้ายรูปถ้วยเล็ก ๆ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๐ ซม. มีดอกจำนวนมาก เมื่อบานเต็มที่กว้าง ๑.๖-๒.๒ ซม. กลิ่นหอมเย็น ดอกแรกบานสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงเหลืองอมส้มเมื่อร่วงหล่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ยาว ๒-๓ มม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปแจกัน ยาว ๑.๓-๒.๒ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกมน ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ อัน ยาว ๑.๘-๒.๓ ซม. ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียบวมพองคล้ายหมวกเห็ด ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม.



มักมีติ่งแหลมสั้น ๆ ติดอยู่ที่ส่วนปลายสีส้มอมเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อผลแก่ มีรสขม ผลแก่ไม่แตก มีเมล็ดเล็กมากจำนวนมาก

 กันเกรามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วไปทุกภาค แต่พบมากทางภาคใต้ ขึ้นเป็นกลุ่มบนพื้นที่ราบต่ำ โล่งบนดินร่วนปนทรายที่ชื้นแฉะในฤดูฝน บริเวณที่มีระดับน้ำใต้ดินค่อนข้างตื้นตลอดปี หรือขึ้นใกล้น้ำในป่าเบญจพรรณชื้นทั่วไป ในต่างประเทศพบที่พม่า กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ และภูมิภาคมาเลเซีย

 ในมาเลเซียและสิงคโปร์ปลูกเป็นไม้ให้ร่มตามถนนและสวนสาธารณะทั่วไป เนื้อไม้ละเอียด สีเหลืองอ่อน แข็งทนทานมากทั้งในพื้นดินและในน้ำ ทนปลวก ตกแต่งง่ายชักเงาได้ดี นิยมใช้ทำเสาเรือน เสาสะพาน กระดานปูพื้น ผนังประตู หน้าต่าง เครื่องเรือน เครื่องกลึง กระดูกงู โครงเรือ เสากระโดงเรือ หมอนรางรถไฟ ชาวจีนตอนใต้นิยมใช้ทำโลงจำปาเนื้อไม้และเปลือกใช้เป็นสมุนไพร (กรมป่าไม้, ๒๕๓๖).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กันเกรา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Fagraea fragrans Roxb.
ชื่อสกุล
Fagraea
คำระบุชนิด
fragrans
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
ตำเสา, ทำเสา (ใต้); ตาเตรา (เขมร-ตะวันออก); ตะมะซู, ตำมูซู (มลายู-ใต้); มันปลา (เหนือ, ตะวันออกเฉียง
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข