กะเรกะร่อน

Cymbidium aloifolium (L.) Sw.

ชื่ออื่น ๆ
กล้วยหางไหล (ชุมพร), กาเรการ่อน (กลาง), เอื้องด้ามข้าว (ลำปาง), เอื้องปากเป็ด (เชียงใหม่)
กล้วยไม้อิงอาศัย ใบเรียงซ้อนสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ห้อยลง ดอกสีน้ำตาลแดงขอบขาว กลีบปากมีทางสีน้ำตาลอมแดง กลางกลีบมีแต้มและสันสีเหลือง ๒ สัน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก มีสันตามยาว ๓ สัน

กะเรกะร่อนเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย รากเป็นเส้นแข็ง ๆ ออกจากโคนลำต้น บางครั้งชี้ตั้งขึ้น ลำต้นสั้น เกาะรวมกันเป็นกระจุกแน่น อวบน้ำและมีเยื่อบาง ๆ หุ้มรอบโคนใบ

 ใบเดี่ยว เรียงซ้อนสลับระนาบเดียว มี ๓-๕ ใบต่อลำลูกกล้วย รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๔๕ ซม. แผ่นใบหนาแข็ง ปลายเว้าตื้น ๒ ข้าง ไม่เท่ากัน

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว ๓๐-๕๐ ซม. ห้อยลง ดอกสีน้ำตาลแดงขอบขาว เรียงเวียนห่าง ๆ กัน มีหลายดอกแต่ละดอกมีใบประดับขนาดเล็กรองรับ กลีบเลี้ยงรูปแถบ กลีบบนกว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๒-๒.๒ ซม. ปลายกลีบแหลมหรือบ้าน กลีบเลี้ยงอีก ๒ กลีบ กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๑.๘-๒.๑ ซม. กลีบดอกสั้นกว่าเล็กน้อย กลีบปากมีทางสีน้ำตาลอมแดง ๗-๘ ทาง กลางกลีบมีแต้มและสันสีเหลือง ๒ สัน หูปากสั้นปลายแหลม มีทางสีน้ำตาลอมแดง ปลายเส้าเกสรสีเหลือง ฝาปิดกลุ่มเรณูสีเหลือง กลุ่มเรณูมี ๒ กลุ่ม ติดอยู่บนแผ่น เยื่อบาง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๖ ซม. มีสันตามยาว ๓ สัน ก้านผลยาวประมาณ ๑ ซม.

 กะเรกะร่อนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค เกาะบนต้นไม้ในป่าเบญจพรรณและบนต้นตาล ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และไต้หวัน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะเรกะร่อน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cymbidium aloifolium (L.) Sw.
ชื่อสกุล
Cymbidium
คำระบุชนิด
aloifolium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Swartz, Olof (Peter)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Swartz, Olof (Peter) (1760-1818)
ชื่ออื่น ๆ
กล้วยหางไหล (ชุมพร), กาเรการ่อน (กลาง), เอื้องด้ามข้าว (ลำปาง), เอื้องปากเป็ด (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์