กะเม็งตัวผู้

Wedelia chinensis (Osbeck) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
ฮ่อมเกี่ยวคำ (เหนือ)
ไม้ล้มลุก ทอดไปตามพื้น มีรากออกตามข้อ ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปไข่กลับแคบ มีขนทั้ง ๒ ด้าน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ดอกวงนอกรูปลิ้น ดอกวงในเป็นหลอดผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ผลของดอกวงนอกรูปสามเหลี่ยม ผลของดอกวงในรูปทรงแบน

กะเม็งตัวผู้เป็นไม้ล้มลุก ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ชูยอดตั้งขึ้น ลำต้นมีขน มีรากตามข้อ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปไข่กลับแคบ กว้าง ๐.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๑-๗.๕ ซม. ปลายแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนเรียวแหลมขอบเรียบหรือจักซี่ฟัน มีขนราบทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบสั้นมาก

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๖-๑๒ ซม. วงใบประดับ ๕ ใบ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลมหรือป้าน สีเขียว มีขน ดอกวงนอกรูปลิ้น มี ๘-๑๒ ดอก เป็นดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นแผ่นเยื่อบาง ๆ รูปใบหอก ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบดอกสีเหลืองโคนติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๑ มม. ปลายเป็นแผ่นคล้ายลิ้น กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๖-๘ มม. ดอกวงในโคนกลีบติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๔ มม. เกสรเพศผู้ ๕ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. สีน้ำตาลเข้ม เรียบหรือขรุขระ ผลของดอกวงนอกเป็นรูปสามเหลี่ยมสันมน ส่วนผลของดอกวงในแบน เมื่อแก่แห้งไม่แตก

 กะเม็งตัวผู้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง แพร่พันธุ์เป็นวัชพืชตามที่ชื้นแฉะ ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 ในไต้หวันนำกะเม็งตัวผู้มาดำกับข้าวสุกใช้พอกบริเวณที่บวม ในอินโดจีนใช้ยาชงจากต้นกะเม็งตัวผู้ตากแห้งดื่มบำบัดอาการกระเพาะทาง (distended stomach) ชาวเขาใช้แก้พิษของน้ำที่ไม่สะอาด ในแหลมมลายูเชื่อกันว่าใบเป็นยาบำรุง ใช้บำบัดอาการไอ ปวดศีรษะ โรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ และศีรษะล้าน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะเม็งตัวผู้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Wedelia chinensis (Osbeck) Merr.
ชื่อสกุล
Wedelia
คำระบุชนิด
chinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Osbeck, Pehr
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Osbeck, Pehr (1723-1805)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ฮ่อมเกี่ยวคำ (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวอำไพ ยงบุญเกิด