กะอวม

Acronychia pedunculata (L.) Miq.

ชื่ออื่น ๆ
กระเบื้องถ้วย, มะยมป่า, ย้อมผ้าระนาบ (กลาง); กริง, เปล้าขลิบทอง (ปราจีนบุรี); ค้อนหมา, ชวน, อ่วม (สุ
ไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ ใบเรียงตรงข้าม รูปรี มีต่อมน้ำมันโปร่งแสงทั่วผิวใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบดอกเล็ก สีขาวอมเหลือง ผลกลม มีเนื้อ ส่วนบนมักมี ๔ สัน และมีติ่งที่ปลาย

กะอวมเป็นไม้ต้น สูง ๔-๘ ม. แตกกิ่งระเกะระกะใกล้โคนต้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ตามยอดและกิ่งอ่อนมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๕-๑๘ ซม. ปลายมนหรือแหลมเล็กน้อย โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เมื่อส่องแผ่นใบดูกับแสงสว่างจะปรากฏต่อมน้ำมันโปร่งแสงกระจัดกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๓ เส้น ปลายโค้งขึ้นจรดกับเส้นขอบใบ เส้นใบย่อยปรากฏชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑.๕-๔ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง แตกแขนงเล็กน้อย ยาว ๔-๑๐ ซม. มีใบประดับขนาดเล็กและมีขนประปราย ดอกเล็ก สีขาวอมเหลือง เมื่อบานเต็มที่กว้าง ๐.๙.-๑.๔ ซม. กลีบเลี้ยงเป็นแผ่นกลม ๔ กลีบ ขนาดเล็กมากกลีบดอก ๔ กลีบ รูปใบหอก ยาวประมาณ ๖ มม. เกสรเพศผู้ ๘ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบบนจานฐานดอก มี ๔ ช่อง แต่จะมีออวุล ๒ เม็ด มีขนหนาแน่น จานฐานดอกมี ๘ พู

 ช่อผลยาวได้ถึง ๑๘ ซม. ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑.๒ ซม. มี ๔ ช่อง ส่วนบนมักมี ๔ สัน ปลายผลมีติ่งเล็กน้อย ผลอ่อนมีขนสีเทาอมเหลืองหนาแน่น ขนจะร่วงไปเมื่อผลเจริญขึ้น ก้านผลยาว ๐.๘-๑.๖ ซม.

 กะรวมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นห่าง ๆ ตามชายป่าดิบบนเนินเขาที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก แต่พบมากบนที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๐๐-๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 เนื้อไม้สีเหลือง เมื่อเผามีกลิ่นหอม ในชวาใช้รากและใบเป็นสมุนไพร ใบอ่อนใช้เป็นเครื่องปรุงรส ในภูมิภาคอินโดจีน ใช้ใบผสมน้ำอาบเนื่องจากใบมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหย ในเวียดนามตอนใต้นำรากมาสกัดใช้ถูตามผิวหนังแก้โรคปวดข้อสารสกัดจากเปลือกใช้แก้อาการคัน รากใช้เบื่อปลา (Burkill, 1966) ผลสุกกินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะอวม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acronychia pedunculata (L.) Miq.
ชื่อสกุล
Acronychia
คำระบุชนิด
pedunculata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
กระเบื้องถ้วย, มะยมป่า, ย้อมผ้าระนาบ (กลาง); กริง, เปล้าขลิบทอง (ปราจีนบุรี); ค้อนหมา, ชวน, อ่วม (สุ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข