กะหนาย

Pterospermum littorale Craib var. littorale

ชื่ออื่น ๆ
ขนาน (ชลบุรี); จำปีแขก, จำปาเทศ (กรุงเทพฯ); สนาน (นนทบุรี); ยวนปลา (ใต้); หำอาว (หนองคาย)
ไม้ต้น ทุกส่วนมีขนสาก หูใบแคบ ใบเรียงสลับ มี ๒ แบบ ดอกสีขาว ออกตามง่ามใบ ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกสั้น มีสันตามยาว ๕ สัน เมล็ดมีปีกบาง ๑ ปีก

กะหนายเป็นไม้ต้น สูง ๕-๑๖ ม. กิ่งอ่อนมีขนสีขาว หรือเหลืองอ่อนประปราย กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ มี ๒ แบบ ใบของต้นอ่อนรูปไข่กว้างหรือเกือบเป็นแผ่นกลม กว้าง ๑๕-๑๘ ซม. ยาว ๑๔-๑๖ ซม. แผ่นใบเว้าเป็นแฉกลึก ๕-๗ แฉก แฉกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายแฉกแหลม ขอบเรียบหรือเว้าห่าง ๆ ไม่เป็นระเบียบ โคนรูปก้นปิด เส้นโคนใบประมาณ ๗ เส้น แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีเทาอมเหลืองหนาแน่น ก้านใบติดห่างจากโคนใบมาก ยาว ๔-๗ ซม. มีขนเป็นแฉกรูปดาวหนาแน่น หูใบแคบ ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนทั่วไปใบของต้นแก่รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๕-๑๓ ซม. ปลายแหลมยาว โคนมนกว้างหรือโคนใบตัดและเว้าเล็กน้อยตรงก้านใบที่ติดเหลื่อมห่างจากโคนใบเล็กน้อย ขอบเรียบแต่มักเว้าตื้น ๆ ห่าง ๆ ไม่เป็นระเบียบ มีเส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น และเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น


ปลายโค้งขึ้นเงียบขอบใบ ก้านใบยาว ๐.๗-๑ ซม. แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเข้ม ด้านล่างมีขนสีเทาอมเหลืองหรือสีนวลหนาแน่น

 ดอกออกเดี่ยวตามง่ามใบ สีขาว กลิ่นหอมอ่อน ก้านดอก ยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวอมน้ำตาล รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๗ มม. ยาว ๗-๘ ซม. ด้านนอกมีขนนุ่มเป็นมันสีน้ำตาลอมเหลือง ด้านในมีขนนุ่มเช่นกันแต่สีจางกว่า กลีบดอก ๕ กลีบ กว้างประมาณ ๑.๗ ซม. ยาวประมาณ ๖.๕ ซม. โคนกลีบเรียว กลีบด้านนอกมีขนเป็นแฉกรูปดาวประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้สมบูรณ์มีประมาณ ๑๕ อัน ติดกันเป็นกลุ่ม ๆ สลับกับเกสรเพศผู้เป็นหมัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ ๖ มม. ติดอยู่บนก้าน มีขนสีเทาอมเหลือง มี ๕ ช่อง แต่ะละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยาวประมาณ ๕ ซม. มีขนเป็นแฉกรูปดาวประปราย

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกสั้น กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. มีสันคม ๕ สัน ผนังระหว่างสันเว้าเป็นแอ่งฐานคอดลงเป็นแกนสั้น ๆ ยาว ๐.๘-๑.๓ ซม. ผนังผลมีขนสีเหลืองอมน้ำตาลทั่วไป ผลแก่แตกตามรอยฝันออกเป็น ๕ เสี่ยง มีเมล็ดจำนวนมาก รูปไข่หรือรูปรีแบน ด้านบนมีปีกยาวบางใสสีน้ำตาล กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวรวมทั้งผลและปีกประมาณ ๓.๖ ซม.

 กะหนายเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ขึ้นตามป่าละเมาะชายหาด ป่าชายหาด หรือตามร่องน้ำลำคลองที่ใกล้ฝั่งทะเล ใน จ. ชลบุรี จันทบุรี ตราด นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์จนถึงพัทลุง ในสมัยก่อนนิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะวัดและวังต่าง ๆ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะหนาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pterospermum littorale Craib var. littorale
ชื่อสกุล
Pterospermum
คำระบุชนิด
littorale
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. littorale
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
ขนาน (ชลบุรี); จำปีแขก, จำปาเทศ (กรุงเทพฯ); สนาน (นนทบุรี); ยวนปลา (ใต้); หำอาว (หนองคาย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข