กะหนานปลิง

Pterospermum acerifolium Willd.

ชื่ออื่น ๆ
ตองเต๊า, ปอเต๊า (เหนือ); เต้าแมว (เชียงใหม่); ปอหูช้าง, สนานดง, สากกะเท้า (อุตรดิตถ์); สลักกะพาด (สร
ไม้ต้น โคนมีพอนต่ำ มีช่องอากาศเรียงตามยาว ทุกส่วนมีขนสาก หูใบเป็นริ้ว ใบเรียงสลับ รูปใบมีหลายแบบ ใบด้านล่างสีเทาแกมขาว ดอกสีขาวอมเหลือง ออกตามง่ามใบ ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยม เมล็ดมีปีกบาง ๑ ปีก

กะหนานปลิงเป็นไม้ต้น สูง ๑๘-๒๕ ม. โคนต้นมีพอนต่ำ ลักษณะเป็นหลืบ เปลือกสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบมีช่องอากาศเรียงตามยาวทั่วไป เปลือกในสีแดงแทรกลายเส้นสีขาว ตามยอดและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปทรงไม่แน่นอน ส่วนใหญ่รูปไข่หรือรูปรี ค่อนข้างกว้างจนเกือบเป็นแผ่นกลม กว้าง ๘-๒๐ ซม. ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ปลายแหลม โคนเว้าลึกคล้ายรูปหัวใจหรือก้านใบติดกับแผ่นใบจากโคนใบ ๐.๕-๕ ซม. แบบก้นปิดขอบมักเว้าห่าง ๆ ไม่เป็นระเบียบ ใบของต้นกล้ามีขนาดใหญ่มาก กว้างและยาวประมาณ ๕๐ ซม. และแผ่นใบเว้าเข้าเป็นแฉกลึก ๓-๖ แฉก เส้นโคนใบ ๖-๑๑ เส้น แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีเทาเป็นกระจุกหนาแน่น และมีเส้นใบย่อยปรากฏชัด ก้านใบยาว ๒-๕ ซม. มีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ใบล่าง ๆ ของลำต้นมักมีก้านใบยาวมาก ขนาดยาวเท่ากับหรือยาวกว่าแผ่นใบ หูใบยาวประมาณ ๑.๖ ซม. ขอบรุ่ยเป็นแฉกแคบ ๆ หลายแฉกไม่เป็นระเบียบร่วงง่าย

 ดอกออกเดี่ยวตามง่ามใบ สีขาวอมเหลือง ดอกตูมรูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยม ยาว ๕-๙ ซม. มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปขอบขนานแคบ ๆ ประกบกันเป็นรูปทรงกระบอก ยาว ๕-๘ ซม. เมื่อดอกบานแต่ละกลีบแยกจากกันและตลบลงข้างล่าง ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ด้านในมีขนนุ่มสีขาวหนาแน่น กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนานแคบ ๆ ขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อยเกสรเพศผู้สมบูรณ์ ๑๕ อัน แยกออกเป็น ๕ มัด มัดละ ๓ อัน เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๕ อัน เรียงสลับกับมัดเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยม มีขนหนาแน่นมี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยม กว้าง ๕-๗ ซม. ยาว ๑๔-๒๐ ซม. ปลายแหลมมน โคนผลคอดเรียวเป็นก้านทรงกระบอกแคบ ๆ ยาว ๓-๔ ซม. ผลแก่แตก เป็น ๕ เสี่ยง ผิวผลหนาและแข็ง มีขนแข็งสั้น ๆ สีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น มีเมล็ดจำนวนมาก รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๙ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. หนาเล็กน้อยด้านบนเป็นปีกบางยาว สีชา กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๔ ซม.

 กะหนานปลิงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าดิบบนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า และมาเลเซีย

 ในอินเดียภาคเหนือใช้ดอกเป็นยาฆ่าแมลง และบางครั้งใช้ดอกเป็นอาหาร (Burkill, 1966) เนื้อไม้สดสีชมพูเรื่อ ๆ แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะหนานปลิง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pterospermum acerifolium Willd.
ชื่อสกุล
Pterospermum
คำระบุชนิด
acerifolium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1765-1812)
ชื่ออื่น ๆ
ตองเต๊า, ปอเต๊า (เหนือ); เต้าแมว (เชียงใหม่); ปอหูช้าง, สนานดง, สากกะเท้า (อุตรดิตถ์); สลักกะพาด (สร
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข