กะลิง

Diospyros pilosanthera Blanco

ชื่ออื่น ๆ
ดันหมี (ปัตตานี), ดำดง (ปราจีนบุรี), ทะยิง (นครนายก), พลับ (ระนอง), โมฬี (จันทบุรี), ไม้ดำ (นนทบุรี)
ไม้ต้น ใบเรียงสลับ รูปขอบขนาน ดอกเพศผู้ออกรวมเป็นช่อกระจุก ดอกเพศเมียส่วนมากเป็นดอกเดี่ยว ทั้งหมดออกตามง่ามใบ ดอกรูปดอกเข็ม สีขาวหรือขาวอมเหลือง กลีบเลี้ยงของดอกเพศเมียจีบรูปพัด กลีบจุกผลพับและเป็นคลื่น

กะลิงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกนอกสีดำ แตกเป็นร่องตามยาว เปลือกในสีน้ำตาลอมชมพูอ่อน กระพี้สีขาวแก่นสีน้ำตาลอมดำ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ปลายสอบมน โคนมนหรือสอบ แผ่นใบค่อนข้างบาง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๘ คู่ เส้นใบย่อยเห็นได้ไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบอ่อนมีขนนุ่มและจะค่อย ๆ ร่วงไป

 ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกเพศผู้เป็นช่อสั้น ออกตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔-๕ กลีบ กลีบเลี้ยงยาว ๓-๔ มม. เหยียดชี้ออก ขอบกลีบเป็นคลื่น โคนกลีบมักไม่เชื่อมติดกันและมีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกยาว ๐.๗-๑.๒ ชม. โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปดอกเข็ม ตอนปลายแยกเป็นแฉกยาวไล่เลี่ยกับส่วนที่ติดกัน ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยงก้านดอกยาว ๑-๒ มม. มีขนสากทั่วไป เกสรเพศผู้ ๘-๑๖ อัน อับเรณูมีขนแซมตามแนวกลาง อาจมีรังไข่ไม่สมบูรณ์ที่มีขนประปราย ดอกเพศเมียสีขาวอมเหลือง ออกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อสั้นตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔-๕ กลีบ ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้แต่ใหญ่กว่าก้านดอกสั้นมากหรือมองไม่เห็น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปป้อมมีขนสั้นหนาแน่น มี ๘-๑๐ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมีขนสั้น ๆ แน่น เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๔-๖ อัน

 ผลป้อมหรือรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. ปลายมนหรือปุ่มเล็กน้อย ผลอ่อนมีขนสั้น ๆ แน่นและจะร่วงไปเมื่อผลแก่ วงกลีบเลี้ยงที่รองรับผลมีขนสากแน่นทางด้านนอก ด้านในมีขนนุ่ม ปลายกลีบเหยียดชี้ออกและลู่แนบไปตามผิวผล ขอบกลีบเป็นคลื่นมาก เส้นลายกลีบอาจเห็นได้ราง ๆ ก้านผลยาว ๒-๓ มม. เมล็ดแข็ง รูปจันทร์เสี้ยวหรือรูปไต

 กะลิงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าดิบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐-๑๕๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน เป็นผลระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา เวียดนาม และภูมิภาคมาเลเซีย

 เนื้อไม้ใช้เป็นสิ่งปลูกสร้างภายในร่ม และทำเครื่องตกแต่งบ้านทั่ว ๆ ไป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะลิง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros pilosanthera Blanco
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
pilosanthera
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blanco, Francisco Manuel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1778-1845)
ชื่ออื่น ๆ
ดันหมี (ปัตตานี), ดำดง (ปราจีนบุรี), ทะยิง (นครนายก), พลับ (ระนอง), โมฬี (จันทบุรี), ไม้ดำ (นนทบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย