กะรังตังกวาง

Paederia calycina Kurz

ไม้เถา ทุกส่วนมีกลิ่นฉุน ใบเรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามง่ามใบดอกสีม่วงถึงม่วงเข้ม ผลกลมหรือรี

กะรังตังกวางเป็นไม้เถา เลื้อยพันคดงอไปมา เถาอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาล ทุกส่วนมีกลิ่นฉุน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๑๐-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้าลึกขอบเรียบ แผ่นใบบาง มีขนสั้นสีน้ำตาลทั้ง ๒ ด้าน โดยเฉพาะตามเส้นใบทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ประกอบด้วยช่อย่อย ๖-๑๒ ช่อดอกสีม่วงถึงม่วงเข้ม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๓-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก ปลายแหลม ผิวเกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามขอบ กลีบดอกเป็นหลอดรูปแตร ยาว ๑-๑.๒ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางส่วนโคน ๒-๓ มม. เส้นผ่านศูนย์กลางส่วนปลาย ๓-๕ มม. ด้านนอกมีขนสั้น ด้านในเกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปราย ปลายหลอดแยกเป็น ๔-๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๔-๕ อัน ติดที่ผนังภายในหลอดเรียงสลับกับกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลกลมหรือรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. ผิวเรียบเป็นมัน แก่จัดสีเขียวถึงน้ำตาลอ่อน ผนังบาง แตกง่าย มีรยางค์ที่ปลายผล มีเมล็ดรูปไข่หรือกลม แบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม.

 กะรังตังกวางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามเขาหินปูนและป่าผลัดใบที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕-๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางภาคใต้ของพม่า และที่กัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะรังตังกวาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paederia calycina Kurz
ชื่อสกุล
Paederia
คำระบุชนิด
calycina
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ