กะพ้อหนู

Licuala triphylla Griff. ex Mart.

ชื่ออื่น ๆ
กะพ้อนกแอ่น (ปัตตานี), ชิงหางหนู (ใต้), ปาละติกุ (มลายู-ปัตตานี)
ปาล์มลำต้นเดี่ยว สั้นมาก ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน รูปกลม ใบย่อยอาจมีถึง ๙ กลุ่ม แต่ละกลุ่มลักษณะไม่เหมือนกัน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกระหว่างโคนกาบใบดอกออกบนแขนงสั้น ๆ ผลเล็ก

กะพ้อหนูเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง ลำต้นเดี่ยว สั้นมาก

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน รูปกลม กว้างและยาว ประมาณ ๒๐ ซม. ก้านใบยาว ๑๗-๑๘ ซม. ขอบทั้ง ๒ ข้าง มีหนามเล็ก ๆ โคนขยายออกและมีขนคลุมลำต้นเป็นเส้นบาง ๆ ประกอบด้วยกลุ่มใบย่อย ๓-๕ กลุ่ม อาจมีถึง ๙ กลุ่ม แต่ละกลุ่มลักษณะไม่เหมือนกัน คู่ล่างรูปแถบ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑๐ ซม. ปลายเบี้ยว โคนสอบ ไม่มีก้านใบย่อย มีเส้นกลางใบ ๑ เส้น คู่กลางใบเรียงจากโคนใบไปหาปลายใบ กว้างประมาณ ๓.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๔ ซม. ปลายตัดและเบี้ยว ส่วนปลายเป็นคลื่น มีเส้นใบ ๔ เส้น โคนใบรวบทำให้ใบโค้งลง ใบกลางมีใบ ๑ กลุ่ม รูปลิ่ม กว้างประมาณ ๙.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ปลายมนและเป็นจักโค้งโคนรวบและมีก้านสั้น ๕-๘ มม. เส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น แผ่นใบย่อยทั้งหมดด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีเขียวอ่อน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกระหว่างโคนกาบใบดอกออกบนแขนงสั้น ๆ อยู่ห่างกันประมาณ ๕ มม. มีจำนวนน้อยและเล็กมาก กลีบเลี้ยงรูปถ้วย กลีบดอก ๓ กลีบ เล็กมากปลายแหลม ผลเล็ก

 กะพ้อหนูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะพ้อหนู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Licuala triphylla Griff. ex Mart.
ชื่อสกุล
Licuala
คำระบุชนิด
triphylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William
- Martius, Carl (Karl) Friedrich Philipp von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William (1810-1845)
- Martius, Carl (Karl) Friedrich Philipp von (1794-1868)
ชื่ออื่น ๆ
กะพ้อนกแอ่น (ปัตตานี), ชิงหางหนู (ใต้), ปาละติกุ (มลายู-ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์