กะพ้อ

Licuala peltata Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
กะพล้อ (พิจิตร), จิ้ง (สตูล), ชิง (ใต้)
ปาล์มลำต้นสูง ลำต้นเดี่ยว มีรอยกาบใบที่หล่นไป ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน รูปกลม ใบย่อยรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อเชิงลด ผลรูปกระสวยแก่จัดสีส้ม

กะพ้อชนิดนี้ลำต้นสูง ๓-๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓๐-๔๐ ซม. ลำต้นเดี่ยว มีรอยกาบใบที่หล่นไป

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน รูปกลม กว้างและยาว ๑-๑.๖ ม. ก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๑.๕ ม. มีหนามใหญ่สีดำแหลมโค้งลง ตอนโคนใบหนามถี่ ส่วนปลายหนามจะห่าง ใบประกอบด้วยใบย่อย ๑๐๐-๑๒๐ ใบ ติดกันเป็นแผ่นใบย่อยรูปแถบ กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๘๐ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกลึกไม่เท่ากัน โคนสอบ ใบย่อยแต่ละใบยังแยกเป็น ๒ แฉกตื้น ๆ ปลายแหลม

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อเชิงลด ๕-๗ ช่อ ห้อยลง แต่ละช่อยาว ๑๕-๓๐ ซม. ช่อดอกเหล่านี้ติดอยู่กับแกนช่อดอกกลางเป็นระยะ ๆ และอยู่เลยกึ่งกลางก้านช่อดอกขึ้นไปจนถึงปลายก้าน ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงรูปถ้วยปลายแยกเป็น ๖ แฉกตื้น ๆ กลีบดอกยาวประมาณ ๑ ซม. โคนกลีบติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกแข็ง ๓ แฉก ปลายแฉกแหลมเกสรเพศผู้ ๖ อัน ก้านชูอับเรณูติดที่โคนเป็นวง และติดกับโคนกลีบดอก อับเรณูโผล่พ้นกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบตอนบนติดแบน ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๘ มม.

 ผลรูปกระสวย ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. แก่จัดสีส้ม เนื้อบาง เมล็ดกลมรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๔ ซม.

 กะพ้อชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ในต่างประเทศพบที่อินเดียและพม่า

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะพ้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Licuala peltata Roxb.
ชื่อสกุล
Licuala
คำระบุชนิด
peltata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
กะพล้อ (พิจิตร), จิ้ง (สตูล), ชิง (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์