กะปะ

Psydrax nitidum (Craib) K.M.Wong

ชื่ออื่น ๆ
หมากพริก (ขอนแก่น); คันแหลน, ลิเภา (ใต้)
ไม้ต้น ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก หูใบระหว่างก้านใบเรียวแหลม ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบ ดอกสีนวล รูปกรวย ส่วนที่แยกเป็นแฉกยาวเท่า ๆ กับส่วนที่ติดเป็นหลอด เกสรเพศเมียยาวยื่นพ้นปากหลอดผลรูปรี


 กะปะเป็นไม้ต้น สูง ๘-๑๐ ม. ลำต้นเปลา

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๓.๕ ซม. ยาว ๕-๙ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบเป็นครีบไปตามก้านใบ ปลายเป็นติ่งยาว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ปลายโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๓-๕ มม. หูใบระหว่างก้านใบเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายเรียวแหลม กว้างและยาว ๒-๓ มม.

 ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบ ก้านช่อยาว ๓-๕ มม. ดอกสีเขียวอ่อนถึงสีนวล เล็กมาก ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายจักแหลม ๕ แฉก กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวใกล้เคียงกับหลอดดอก ภายในหลอดดอกมีขนสั้น ๆ เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูสั้น เรียงสลับกับกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียยาวพ้นหลอดดอกประมาณ ๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลรูปรี มี ๒ พู ไม่เท่ากัน กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. แต่ละพูมี ๑ เมล็ด

 กะปะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ขึ้นตามเขาหินปูนที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย (เกาะลังกาวี).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะปะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Psydrax nitidum (Craib) K.M.Wong
ชื่อสกุล
Psydrax
คำระบุชนิด
nitidum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
- Wong, Khoon Meng
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant (1882-1933)
- Wong, Khoon Meng (1954-)
ชื่ออื่น ๆ
หมากพริก (ขอนแก่น); คันแหลน, ลิเภา (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวอำไพ ยงบุญเกิด